โรงเรียนสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย

โรงเรียนสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,120 view
1. ความเป็นมา 
     1.1 ก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดยมีคุณอุษณา จิราพันธุ์ (ภริยาเอกอัครราชทูตสุวัฒน์ จิราพันธุ์ ในขณะนั้น) เป็นผู้ริเริ่มและที่ปรึกษาของโรงเรียนฯ โดยเปิดสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 
     1.2 ปัจจุบัน มีคนไทยที่เดินทางมาทำงาน สมรส และมีถิ่นพำนักอยู่ในกาตาร์ประมาณ 4,000 คน ในจำนวนนี้มีบุตร ธิดา จำนวนมากที่ไม่สามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ นอกจากนั้น เยาวชนเหล่านี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย คณะกรรมการจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยวันศุกร์ในกาตาร์จึงได้ร่วมกันพิจารณาเสนอโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยสำหรับเยาวชนไทยในกาตาร์ เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนไทยในกาตาร์ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย
     1.3 ครูใหญ่ของโรงเรียนฯ ท่านแรกคือ คุณจินตนา กระสวยทอง ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญและอุทิศตนให้กับการดำเนินงานของโรงเรียนฯ ในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชนไทยที่เติบโตและอาศัยอยู่ในรัฐกาตาร์ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในช่วงปี 2553 จนถึงปี 2558 เป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยต่อมา คุณจินตนาฯ ได้กลับไปพำนักอยู่ในประเทศไทย จึงได้แต่งตั้งให้คุณกองกาญจน์ จิตต์รัตนจินดา ผู้ช่วยครูใหญ่ ขึ้นดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนฯ เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของโรงเรียนฯ ต่อแทนจนถึงปัจจุบัน
 
2. หลักการและเหตุผล
     การจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนไทยที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาอบรมตามหลักสูตรประถมศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่เยาวชนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ และในอนาคตจะต้องย้ายกลับไปประเทศไทย เมื่อยังขาดการศึกษาอบรมด้านภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทยตามระบบดังกล่าว ทำให้ขาดการปลูกฝังให้เกิดความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย โดยปัจจุบันกาตาร์ยังไม่มีสถาบันสนับสนุนหรือจัดทำเป็นโครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชน
 
3. วัตถุประสงค์
     3.1 เพื่อให้เยาวชนไทยในกาตาร์ได้เรียนรู้ภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย จนสามารถใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารได้ เกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าของภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทยในฐานะที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและมีส่วนที่จะช่วยดำรงรักษาไว้
     3.2 ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้แก่เยาวชนไทยให้มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม ที่เป็นพื้นฐานทางการศึกษา การแสวงหาความรู้เพื่อฝึกฝนเชาว์ปัญญาและทักษะเฉพาะด้านตามศักยภาพของตนเองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาในระดับสูงขึ้น
     3.3 เสริมสร้างความภูมิใจและเข้าใจในคุณค่าของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาไทย สามารถใช้วิจารณญาณในการเลือกรับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของนานาชาติได้อย่างเหมาะสม เพื่อดำรงตนในฐานะสมาชิกของสังคมไทยได้ถูกต้อง
     3.4 ฝึกฝนให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการปฏิบัติตนตามค่านิยม และการแสดงกิริยามารยาทตามแบบแผนประเพณีไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ
 
4. กลุ่มเป้าหมาย
     - เยาวชนไทยในกาตาร์ที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป
     - จำนวนนักเรียนไม่เกิน 20 คน 
 
5. วิธีดำเนินการ
     5.1 หลักสูตรและแบบเรียน
           หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับผู้เรียนที่เป็นเยาวชนไทยในกาตาร์ ทั้งที่ไม่เคยเรียนจากประเทศไทย หรือกับผู้เรียนที่เคยเรียนจากประเทศไทยมาก่อน โดยใช้ตำราเรียน “หนังสือเรียนภาษาไทยพื้นฐาน สำหรับเยาวชนไทยในต่างแดน ชุดสวัสดี” ของอาจารย์สาลี ศิลปะธรรม และปัจจุบัน โรงเรียนฯ ได้เปลี่ยนมาใช้ตำราเรียน ดังนี้
           - หนังสือ “หลักภาษาไทย” ของโรงเรียนจิตลดา (ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนจิตรลดา) ให้โรงเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยวันศุกร์ในกาตาร์ได้นำมาเป็นตำราเรียนได้
           - “นิทานพยัญชนะไทย ก-ฮ พร้อมแบบฝึกหัด” โดยอาจารย์ดวงใจ วรรณสังข์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน ระดับอนุบาล โรงเรียนจิตรลดา
           - “หนังสือ ภาษาพาเพลิน” เล่ม 1-4 ของอาจารย์พันธมาศ (ธารปัญญา)
     5.2 วิธีการเรียน
           5.2.1 เข้าเรียนในห้องเรียน (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา) เป็นประจำ 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยครูจิตอาสา
           5.2.2 มอบหมายการบ้าน ทำแบบฝึกหัดเพื่อทบทวนและศึกษาด้วยตนเอง
           5.2.3 ใช้อุปกรณ์เสริมการเรียน ได้แก่ เทปและแผ่นภาพ
           5.2.4 ฝึกทักษะหลังจากที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนแล้ว โดยทำแบบฝึกหัดที่ครอบคลุมทุก ๆ เนื้อหาการเรียน
     5.3 การประเมินผล
           ก่อนเข้าสู่บทเรียนในแต่ละชั้น จะมีการทดสอบก่อนเรียนและทดสอบหลังการเรียน โดยมีการทดสอบในทุกเรื่องย่อย ๆ ของทุกหน่วยงานการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาบทเรียนตามหลักสูตรที่เหมาะสมกับเยาวชนมากที่สุด 
     5.4 ระยะเวลาในการเรียน
           5.4.1 วันศุกร์ เวลา 10.30 - 13.00 น.
           5.4.2 ตุลาคม - มิถุนายน (แบ่งเป็น 3 ภาคการศึกษา)
     5.5 เกณฑ์การวัดผล
           5.5.1 การวัดผลประเมินผลสำหรับนักเรียนที่จะจบการศึกษาแต่ละช่วงชั้นเรียน จะใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เช่น การสะสมแฟ้มผลงานที่นักเรียนทำไว้ เช่น การบ้าน แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ฯลฯ ที่เกิดจากการเรียนการสอนแต่ละครั้งจนครบตามจำนวนบทเรียนที่กำหนด
           5.5.2 ผู้เรียนต้องทำแบบฝึกหัดประจำหน่วยงานการเรียนให้ครบถ้วน
     5.6 การสมัครเข้าเรียน
           5.6.1 เยาวชนอายุตั้งแต่ 4 ขวบครึ่งขึ้นไป 
           5.6.2 มีความตั้งใจและแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ภาษาไทย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย รวมทั้งได้มีโอกาสพบปะทำกิจกรรมกับเพื่อนใหม่ ๆ 
           5.6.3 สนใจมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นโดยโรงเรียนฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ อาทิ งาน Thai Culture and Food Festival งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานวันพ่อ งานวันแม่ และโอกาสพิเศษอื่น ๆ โดยการร่วมแสดงทางวัฒนธรรม
           5.6.4 สนใจส่งบุตรหลานเข้าเรียน แจ้งความประสงค์ผ่าน Inbox ของ www.facebook.com/thaiembassydoha หรือแจ้งความประสงค์ผ่านอีเมล์ [email protected]