ยุทธศาสตร์เชิงรุกบุกตลาดประเทศกาตาร์

ยุทธศาสตร์เชิงรุกบุกตลาดประเทศกาตาร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,140 view

ยุทธศาสตร์เชิงรุกบุกตลาดประเทศกาตาร์

                                                                                                                  โดยนายพิรุณ ลายสมิต

             เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา

                

                        หากเอ่ยถึงประเทศกาตาร์ คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับประเทศนี้เท่าใด บางคนอาจยังไม่รู้เลยว่า ประเทศนี้ตั้งอยู่ในภูมิภาคใดและอยู่มุมไหนของโลก เนื่องจากประเทศกาตาร์ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญหรือมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากนักสำหรับคนไทย ประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งประเทศกาตาร์ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2514 หรือมีอายุ 44 ปีเท่านั้น สำหรับนักท่องเที่ยวไทยบางคนอาจเริ่มรู้จักกาตาร์โดยเคยนั่งเครื่องบินสายการบินกาตาร์แอร์เวย์แวะผ่านกาตาร์ เพื่อเปลี่ยนเครื่องบินต่อไปท่องเที่ยวในยุโรป อเมริกา แอฟริกา ในขณะที่นักกีฬาหลาย ๆ คนก็เคยเดินทางไปแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคหรือระดับโลกที่ประเทศกาตาร์มาแล้ว แต่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ที่มีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดเลย ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางและเป็นส่วนหนึ่งในอ่าวเปอร์เซียกลับมีอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะศักยภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดและติดอันดับสถิติโลกในมิติต่าง ๆ ที่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยจะต้องหันกลับไปมองและให้ความสนใจกับประเทศนี้มากขึ้นในอนาคต

                        ผู้เขียนขอขอบคุณกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศที่ได้เชิญผู้เขียนมาร่วมการสัมมนาเรื่อง “เปิดตลาดตะวันออกกลางกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างบูรณาการ” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 โดยร่วมเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยเชิงรุกบุกตลาดตะวันออกกลาง” ซึ่งครั้งนี้มุ่งเน้นโอกาสการเจาะตลาดการค้าการลงทุนใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะเป็น Gateway สู่ตลาดตะวันออกกลาง อิหร่านในฐานะตลาดเก่าแก่ของไทยที่เคยค้าขายกันมานานและขาดหายไปช่วงหนึ่งจากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะถูกยกเลิกมาตรการ sanction ทางเศรษฐกิจจากองค์การสหประชาชาติและประเทศตะวันตก และกาตาร์ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพแต่นักธุรกิจไทยยังไม่คุ้นเคยไม่มีข้อมูลและควรทำความรู้จักไว้ ผู้เขียนในฐานะรับผิดชอบในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับกาตาร์ เห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์หากบทความนี้จะสามารถช่วยปูพื้นฐานและให้ข้อมูลแก่นักธุรกิจและภาคเอกชนไทยที่สนใจให้มองตลาดการค้าในกาตาร์บ้าง อาจเป็นโอกาสให้เข้าไปเจาะตลาดเพื่อขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทยต่อไป

 

1. มารู้จักกาตาร์

                        กาตาร์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมันหรือประเทศตุรกีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเวลาประมาณ 300 ปี ต่อมากาตาร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ Sheikhs of Bahrain จนกระทั่งปี ค.ศ.1867 ได้เกิดความวุ่นวายและมีการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับชนชั้นปกครอง และเพื่อเป็นการรักษาความสงบในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในภูมิภาคเวลานั้นได้สนับสนุนให้ Muhammad bin Thani al-Thani หัวหน้ากลุ่มชนชาติกาตาร์ขึ้นเป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐ (Emir) และในปี 1893 ชาวเติร์คออสโตมันได้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของกาตาร์อีกครั้งหนึ่งแต่ผู้ปกครองรัฐกาตาร์ได้ทำการต่อต้านจนสำเร็จ จนปี ค.ศ.1916 เจ้าผู้ปกครองรัฐกาตาร์ได้ตกลงทำสนธิสัญญาขอให้อังกฤษเป็นผู้คุ้มครองดินแดนของกาตาร์ อังกฤษจึงได้เข้าไปมีอิทธิพลในกาตาร์ระหว่างปี 1916-1971 เป็นเวลา 55 ปี และเมื่ออังกฤษได้ถอนตัวออกจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย กาตาร์จึงได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1971 และปกครองในระบบราชาธิปไตยเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในอ่าวเปอร์เซีย โดยมีเจ้าผู้ปกครองรัฐ (Emir) เป็นประมุขของประเทศ

                        กาตาร์ตั้งอยู่ในอ่าวเปอร์เซียของภูมิภาคตะวันออกกลาง มีลักษณะรูปร่างเป็นติ่งยื่นออกไปในอ่าวเปอร์เซียโดยมีทะเลล้อมรอบ มีชายแดนทางบกเพียงแห่งเดียวทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ยาว 65 กม.ติดกับพรมแดนซาอุดีอาระเบีย ทิศใต้ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทิศเหนือประเทศบาห์เรน ทิศตะวันออกประเทศอิหร่าน กาตาร์มีเนื้อที่ 11,437 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดเลยหรือจังหวัดน่านของประเทศไทย พื้นที่มีสภาพเป็นทะเลทรายและภูเขา มีชายฝั่งทะเลยาว 563 กม. สภาพอากาศร้อนแห้ง ฤดูหนาวอากาศดีเย็นสบาย ท้องฟ้าโปร่งใสตลอดปี เมฆน้อย มีพายุทะเลทรายเป็นระยะ ที่ดินส่วนใหญ่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ แต่กาตาร์มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานมหาศาล อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ปัจจุบันกรุงโดฮาเป็นเมืองหลวง มีประชากรอาศัยอยู่ในกาตาร์ 2.3 ล้านคน (สถิติปี 2515) เป็นคนกาตาร์ 2.8 แสนคน และคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานอีก 2 ล้านกว่าคน ประชากรกาตาร์เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ แต่คนกาตาร์ส่วนใหญ่มีการศึกษาดีและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ สกุลเงินที่ใช้คือ ริยาล (Qatar Riyal) โดย 1 กาตาร์ริยาลเท่ากับ 9.50 บาท

                        โดยที่กาตาร์ไม่ได้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยาวนานและไม่มีโบราณสถานหรือสถานที่ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ เมืองใหม่ กำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จำนวนมาก การที่จะให้ประชาคมโลกรู้จักประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลกาตาร์จึงมียุทธวิธีที่จะให้ชาวต่างชาติรู้จักกาตาร์และให้การยอมรับมากขึ้นโดยอาศัยที่กาตาร์มีฐานะที่ร่ำรวยจึงมีนโยบายดึงชาวต่างชาติมาเยือนกาตาร์ด้วยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้กาตาร์เป็นศูนย์การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ อาทิ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2006 การได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 และยังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโลก กีฬาระดับภูมิภาคในการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ตลอดทั้งปี หรือการใช้กาตาร์เป็นสถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ การประชุมองค์การการค้าโลกรอบโดฮา (Doha Round) การประชุมภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการระหว่างประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี นวัตกรรม รถยนต์ เครื่องจักรกล ฯลฯ ตลอดปี ซึ่งนอกจากจะทำให้คนต่างชาติเดินทางมาร่วมงานและมารู้จักกาตาร์มากขึ้นแล้ว ยังเป็นผลดีต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศได้ดีขึ้น

                        Qatar National Vision 2030 เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกาตาร์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2008 โดยรัฐบาลกาตาร์จะใช้เป็นแผนงาน (road map) เพื่อพัฒนาด้านบุคลากร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สำหรับรองรับความท้าทายและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งครอบคลุมใน 4 หัวข้อ ได้แก่                                                                                                       

1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นที่การศึกษาเพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก การสาธารณสุขเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีและเข้าถึงบริการทางแพทย์ การพัฒนาแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมถึงดูแลสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานต่างชาติในกาตาร์ด้วย

2) การพัฒนาสังคม มุ่งเน้นความสำคัญของครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม การรักษาจารีตประเพณีของชาติและส่งเสริมคุณค่าศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมชาวอาหรับ และรักษาความมั่นคงของสังคมและความเท่าเทียมกันของประชาชน และการส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีภูมิภาค                                     

3) การพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเหมาะสมและยั่งยืน การบริหารการใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างเหมาะสม รวมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ                                                                         

4) การพัฒนาสิ่งแวดล้อม มุ่งรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติ สนับสนุนการจัดการปัญหาโลกร้อน เตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ                                    

ทั้งนี้ ภายใต้แผนงานดังกล่าวจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้กาตาร์ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัยภายในปี 2030  กาตาร์จึงมีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่จะเป็นโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนหรือทำงานในโครงการขนาดใหญ่จากนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการก่อสร้างที่จะรองรับและอำนวยความสะดวกการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022                 

2. รู้เขารู้เรา อุดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง

                        การค้าขายก็เปรียบเสมือนการออกสนามรบ ทฤษฎีของขุนพลซุนอู่ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการค้าขายในปัจจุบัน "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" การรู้จุดอ่อนจุดแข็งของทั้งตัวเราและคู่ค้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องศึกษาและมีความสำคัญต่อการประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะทำการค้าร่วมกันหรือเข้าไปเจาะตลาดการค้าของประเทศคู่ค้าเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หากประเทศคู่ค้าไม่มีจุดแข็งหรือไม่มีศักยภาพเพียงพอ หรือเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบเงื่อนไขมากมายที่อาจเป็นปัญหา เราก็ไม่ควรจะเสียเวลามากและไปหาตลาดอื่นที่มีเงื่อนไขเหมาะสมและสะดวกกว่าในการร่วมมือทางการค้า แต่หากประเมินแล้วยังมีความคุ้มค่าก็อาจลองพิจารณาเดินหน้าต่อไป กาตาร์ก็เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนที่น่าสนใจและต้องนำไปพิจารณาหากนักธุรกิจไทยเริ่มต้นมองตลาดกาตาร์

                        2.1 จุดอ่อนของกาตาร์                                                                   

                               อาจไม่ถึงขนาดที่ถือว่าเป็นจุดอ่อน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ควรคำนึงและนำไปประกอบการพิจารณาก่อนที่จะตัดสนใจทำการค้าขายกับกาตาร์                                       

                               2.1.1 มีประชากรน้อย คนกาตาร์มีไม่ถึง 3 แสนคน และโดยที่กาตาร์มีฐานะร่ำรวย มีการเงินที่เข้มแข็ง เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐบาลดูแลคนกาตาร์ได้ดีมาก คนกาตาร์จะไม่ทำงานบริการและไม่ทำงานที่ใช้แรงงาน ไม่ชอบงานหนัก ชอบความสุขสบาย การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานจึงต้องอาศัยคนต่างชาติเข้ามาช่วยทำงาน และช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่มีความสะดวกสบายอยู่ดีกินดี จึงเห็นได้ว่า กาตาร์มีสภาวะที่ขาดแคลนแรงงานและคนทำงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ จึงมีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาทำงานในกาตาร์จำนวนมากกว่าประชากรกาตาร์ถึง 7 เท่า แต่จุดอ่อนนี้ก็คงยังไม่เป็นปัญหามากตราบเท่าที่กาตาร์ยังมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและมีเงินจ้างบุคลากรดี ๆ ที่มีฝีมือจากทั่วโลกมาทำงานให้ได้                         

                               2.1.2 สภาพพื้นดินส่วนใหญ่ของกาตาร์ไม่สามารถทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนจัดก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตร ฝนตกปีละ 1-2 ครั้ง ไม่มีแม่น้ำมีเพียงน้ำทะเล กาตาร์จึงไม่สามารถผลิตอาหารด้วยตัวเอง และจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากทั่วโลก ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยที่จะเสนอส่งสินค้าเข้าไปขายในกาตาร์ และ demand การนำเข้าสินค้าประเภทต่าง ๆ ของกาตาร์ยังคงมีอัตราสูง  และนอกจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันแล้ว กาตาร์ยังไม่มีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตสินค้า ทำให้กาตาร์ไม่ค่อยมีโรงงานอุตสาหกรรมสาขาอื่น นอกจากโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี และโรงงานที่ผลิตสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงไม่ปรากฏสินค้าตรา Made in Qatar แม้ในตลาดกาตาร์เอง

                               2.1.3 กฎระเบียบที่หยุมหยิมไม่ชัดเจนจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่จะทำการค้าการลงทุนในกาตาร์ โดยที่กาตาร์ยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิดใหม่ กฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นคุณต่อฝ่ายกาตาร์หรือไม่ค่อยเปิดเอื้อประโยชน์ให้แก่คนต่างชาติ ระบบการค้าการลงทุนการจ้างงานในกาตาร์ยังใช้ระบบ Sponsor ซึ่งหมายถึงการเข้ามาลงทุนเปิดบริษัททำธุรกิจไม่ว่าสาขาใดก็ตาม จะต้องมีคนกาตาร์เป็นผู้ให้การสนับสนุน หรือเป็น sponsor ในการขอใบอนุญาต หรือเป็นหุ้นส่วน คนต่างชาติก็ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตด้วยตัวเองได้ ระบบ sponsor ของกาตาร์จึงเป็นประโยชน์แก่คนท้องถิ่นในการรับผลประโยชน์ค่าตอบแทนจากการลงทุนร่วมกัน ทั้งที่หลายธุรกิจนักธุรกิจกาตาร์ไม่ได้ลงทุนลงแรงทำอะไรเลยนอกจากช่วยขอใบอนุญาตในการเปิดบริษัทหรือใบอนุญาตทำธุรกิจเท่านั้น และจะได้รับผลประโยชน์จากคู่ร่วมทุนต่างชาติโดยจ่ายให้เป็นรายเดือนหรือรายปีแล้วแต่จะตกลงกัน เช่นเดียวกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกาตาร์ก็จำเป็นต้องมีบริษัทชาวกาตาร์เป็น sponsor ถึงจะสามารถทำวีซ่าเข้ามาทำงานรวมทั้งการขอใบอนุญาตให้มีถิ่นพำนักชั่วคราวเพื่อทำงานในกาตาร์ ดังนั้น คนต่างชาติหากได้คนกาตาร์ที่เป็น sponsor ที่ดีเป็นมิตรและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อก็จะดำเนินธุรกิจไปด้วยดี แต่หากได้หุ้นส่วน sponsor ที่ไม่ดีเอาเปรียบก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีปัญหาต่อไป  สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกาตาร์นั้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2015 รัฐบาลกาตาร์ได้แก้กฎหมายใหม่โดยปรับเงื่อนไขในระบบ sponsor เพื่อให้คนต่างชาติได้รับการคุ้มครองและมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น

                               2.1.4 คนกาตาร์จะเคร่งครัดศาสนาและอนุรักษ์นิยมมาก แต่เป็นคนที่ทำธุรกิจด้วยความรอบคอบ มุ่งหากำไร เจรจาไม่ง่าย ต้องมีรายละเอียดแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรม และมองเห็นกำไรที่ชัดเจนไปเสนอจึงจะให้ความสนใจ ในช่วงการดำเนินงานคนกาตาร์เจ้าของโครงการมักจะขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวทางหรือแบบแผนบ่อย ๆ จากที่ตกลงกันไว้ตามความพอใจของตน ความไม่แน่นอนมีโอกาสเกิด และการชำระเงินค่าผลงานหรือการจ่ายค่าตอบแทนมักจะล่าช้า นอกจากนี้ คนกาตาร์ส่วนใหญ่มีฐานะการเงินร่ำรวยจึงมักจะมองคนจากประเทศอื่น ๆ ว่าด้อยกว่าตน อย่างไรก็ตาม คนกาตาร์จำนวนมากที่ชื่นชอบและให้เกียรติคนไทย ชอบไปท่องเที่ยวซื้อของในประเทศไทย นิยมไปรักษาสุขภาพ ชอบกินอาหารไทย และยังชื่นชอบแรงงานฝีมือของไทยอีกด้วย                                                    

                               2.1.5 การขอพบกับผู้บริหารกิจการชาวกาตาร์ไม่สามารถทำได้ง่าย บริษัทคนกาตาร์ส่วนใหญ่จะจ้างพนักงานเป็นคนต่างชาติ การนัดหมายพูดคุยธุรกิจมักจะได้พบกับลูกน้องซึ่งเป็นคนต่างชาติและดูแลผลประโยชน์ให้คนกาตาร์ โดยลูกน้องก็จะรับเรื่องที่หารือไปรายงานให้ผู้บริหารกาตาร์พิจารณาตัดสินใจภายหลัง ดังนั้น การเข้าถึงตัวผู้บริหารคนกาตาร์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถที่จะได้รับคำตอบโดยเร็วขึ้นกับความพอใจของคนกาตาร์

                        2.2 จุดแข็งของกาตาร์                                                                    

                               จุดแข็งในด้านต่าง ๆ ของกาตาร์ย่อมเป็นรากฐานสำคัญและมั่นคงส่งเสริมให้กาตาร์มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างดีและยั่งยืน จุดแข็งหลายด้านย่อมเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและนักธุรกิจไทยที่จะเข้ามาแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับกาตาร์ต่อไป

                               2.2.1 กาตาร์มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองภายในสูงมาก กาตาร์ปกครองโดยเจ้าผู้ครองรัฐซึ่งเป็นผู้ออกกฎหมายขึ้นมาบริหารบ้านเมือง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนับสนุนและช่วยดูแลกิจการภายในต่าง ๆ แทนเจ้าผู้ครองรัฐ กาตาร์มีกฎหมายที่เข้มงวดและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และโดยที่กาตาร์เป็นรัฐเล็ก ๆ แต่มีคนต่างชาติเข้าไปทำงานจำนวนมาก ระบบการควบคุมคนต่างชาติ หรือการให้วีซ่าเพื่อเข้าไปในกาตาร์ด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ จึงมีความเข้มงวดกวดขัน การให้วีซ่าหรือการอนุญาตให้อยู่พำนักชั่วคราวมีระบบที่ควบคุมอย่างเป็นระเบียบและมีเงื่อนไข ด้วยความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ จึงทำให้กาตาร์มีอาชญากรรมที่ค่อนข้างต่ำ คนต่างชาติที่ทำผิดกฎหมายจะถูกศาลตัดสินลงโทษปรับ/จำคุกแล้วก็จะถูกเนรเทศออกนอกประเทศไปและไม่อนุญาตให้กลับเข้ามาในกาตาร์อีก สภาพความเป็นอยู่ในกาตาร์จึงมีความปลอดภัยสูงมาก                              

                               2.2.2 ข้อมูลจาก World Economic Outlook Database เมื่อเดือนตุลาคม 2014 ได้จัดอันดับกาตาร์เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เป็นเศรษฐีอันดับ 1 โดยพิจารณาจาก GDP per capita เท่ากับ USD 145,894 ในขณะที่ทิ้งห่างจากอันดับ 2 คือ ลักเซมเบิร์ก USD 90,332  อันดับ 3 สิงคโปร์ USD  78,761 อันดับ 4 บรูไน ดารุสซาลาม USD 73,823 อันดับ 5 คูเวต USD 70,785 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีรายได้ต่อหัวในระดับที่สูงที่สุดของโลก แต่ประเทศเหล่านี้ก็มีประชากรจำนวนไม่มาก                  

                               2.2.3  ข้อมูลจาก IMF รายงานว่า กาตาร์มีอัตราเจริญเติบโตช่วงปี 2006-2011 มี GDP ระหว่างร้อยละ 12-26 และในปี 2012-2014 มี GDP เฉลี่ยร้อยละ 6.5 โดยคาดว่าในปี 2015 GDP ของกาตาร์จะเติบโตร้อยละ 7.7 มีผลผลิตมวลรวมล้าน USD 227,000 ส่วนเงินสำรองต่างประเทศของกาตาร์ประมาณล้าน USD 47,140 (ปี 2014) ซึ่งถือว่า มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีมากประเทศหนึ่ง โดยรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากธุรกิจภาคพลังงาน                                                             

                               2.2.4 กาตาร์มีทรัพยากรพลังงานจำนวนมหาศาล สามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล มีน้ำมันสำรองถึง 65 ปี ส่วนก๊าซธรรมชาติ (LNG) ผลิตได้ปีละ 77 ล้านเมตริกตัน ถือเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซ LNG มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งทางการกาตาร์ยังประกาศว่า กาตาร์มีก๊าซธรรมชาติสำรองไว้ถึง 200 ปี โดยมีก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน  ทั้งนี้ กาตาร์ส่งออกสินค้าหลักคือ ก๊าซธรรมชาติ LNG และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ โดยได้ดุลการค้าปีละประมาณ USD 80,000 - 100,000 รัฐบาลกาตาร์จึงสามารถนำเงินรายได้การส่งออกพลังงานไปพัฒนาประเทศและเป็นสวัสดิการของคนกาตาร์ โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปเข้ากองทุน Sovereign Wealth Fund ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้มีจำนวนล้าน USD 256,000 โดยมี Qatar Investment Authority (QIA) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน และมีบริษัท Qatar Holding เป็นบริษัทลูกโดยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อกิจการ การลงทุนในตลาดหุ้น เป็นต้น โดยเฉพาะการลงทุนในภูมิภาคยุโรป เพื่อเป็นการต่อยอดผลกำไรให้งอกเงยเพิ่มยิ่งขึ้น                                                     

                               2.2.5 กาตาร์เป็นเศรษฐีที่เข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคยุโรปจำนวนมากซึ่งแสดงถึงศักยภาพทางการเงินและฐานะที่มั่งคั่งของกาตาร์ โดยเฉพาะในกรุงลอนดอนได้เข้าไปซื้อและยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินในปัจจุบัน ดังนี้                                                                                     

                                          - The Shard เป็นอาคารในกรุงลอนดอนที่ถือว่าสูงที่สุดในยุโรป ถือหุ้นถึงร้อยละ 95

                                          - ห้าง Harrods กาตาร์ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ซื้อเมื่อปี 2010 มูลค่า 1,500 ล้านปอนด์ 

                                          - The Olympic Village ซื้อเมื่อปี 2012 ในราคา 557 ล้านปอนด์ มีรายงานว่า หากขายในราคาปัจจุบันจะมีกำไร 1,000 ล้านปอนด์                                                               

                                          - Former US Embassy Building ที่ Grosvenor Square ใจกลาง Mayfair กาตาร์ซื้อไว้เมื่อปี 2009                    

                                          - One Hyde Park อพาร์ทเมนท์ที่แพงที่สุดในโลก โดยกาตาร์ได้กวาดซื้อไปกว่าครึ่ง 

                                          - Chelsea Barracks เป็นที่ตั้งกรมทหารของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ กาตาร์ซื้อที่ดินนี้เมื่อปี 2007 ในราคา 900 ล้านปอนด์

                                          - The Canary Wharf Complex และ Canada Square Tower เป็นอาคารในเขตศูนย์กลางการเงินของอังกฤษในกรุงลอดดอน ซื้อไป 2,600 ล้านปอนด์

                                          - Claridge's the Berkeley and the Connaught กาตาร์ซื้อเมื่อเดือนเมษายน 2015 ในราคา 1,600 ล้านปอนด์  

                                          - London Stock Exchange กาตาร์เคยซื้อหุ้นไปกว่าร้อยละ 20 ของตลาดหุ้น แต่ตอนนี้คงเหลือเพียงร้อยละ 10 ส่วน Camden Market กาตาร์ยังถือหุ้นร้อยละ 20 มูลค่า 80 ล้านปอนด์

                               2.2.6 การมีสายการบินประจำชาติที่ดีและเข้มแข็งยังเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกาตาร์ด้วย Qatar Airways ได้ซื่อว่าเป็นสายการบินห้าดาวที่มีการบริการดีเลิศทำให้สายการบิน Qatar Airways ได้รับเลือกจากนักเดินทางทั่วโลกว่าเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2015 มีฝูงบินที่ทันสมัยเครื่องบินใหม่เอี่ยมประมาณ 150 ลำ บินเชื่อมเมืองเครือข่ายต่างประเทศทั่วโลกกว่า 140 เส้นทาง ในตะวันออกกลาง ยุโรป สหรัฐอเมริกาเหนือและใต้ เอเชียแปซิฟิค และแอฟริกา นอกจากนี้ ผู้บริหารของ Qatar Airways ได้แถลงข่าวเมื่อเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ว่า องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประกาศว่าสายการบิน Qatar Airways มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทำให้สายการบินกาตาร์มีแผนที่จะก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าหลังที่ 2 โดยคาดว่า จะสร้างแล้วเสร็จในปี 2018 จะสามารถบริหารจัดการเก็บสินค้าทางอากาศได้ถึง 4.4 ล้านตันต่อปี เพิ่มจากปัจจุบันที่มีสมรรถนะเพียง 1.4 ล้านตันต่อปี ปัจจุบัน Qatar Airways มีนโยบายเชิงรุกใช้ Hamad International Airport กรุงโดฮาซึ่งเป็นสนามบินใหม่เปิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ให้เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นของโลกโดยอาศัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีที่เชื่อมระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ เช่นเดียวกับท่าอากาศยานนานาชาติที่เมืองดูไบ โดยทั้งสองสนามบินและสองสายการบินระหว่าง Qatar Airways และ Emirates มีการแข่งขันกันเชิงธุรกิจการบินอย่างต่อเนื่อง Qatar Airways มีเที่ยวบินตรงโดฮา-กรุงเทพฯ วันละ 4 เที่ยวบิน (ใช้ A380 รวม 3 เที่ยวบิน และ B777 อีก 1 เที่ยวบิน) และบินตรงโดฮา-ภูเก็ต 1 เที่ยวบินต่อวัน ธุรกิจการบินเส้นทางระหว่างโดฮา-กรุงเทพฯ ได้สร้างผลกำไรให้แก่สายการบินกาตาร์อย่างมหาศาล ในขณะที่สายการบินไทยไม่ได้บินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ-โดฮา

                               2.2.7 กาตาร์ยังได้พัฒนาการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ โดยได้เริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึก Hamad ตั้งแต่ปี 2011 และจะเริ่มเปิดใช้งานในช่วงปลายปี 2015 โดยในชั้นนี้จะอนุญาตให้เทียบท่าของเรือสินค้าบางประเภทก่อนเนื่องจากอุปกรณ์ขนาดใหญ่ยังดำเนินการติดตั้งอยู่ และมีกำหนดจะเปิดให้บริการท่าเรือดังกล่าวเต็มระบบในปลายปี 2016 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นปริมาณการนำเข้าส่งออกของการค้าระหว่างประเทศของกาตาร์ โดยกาตาร์มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือ Hamad เป็นศูนย์กลางขนส่งทางเรือพาณิชย์ของภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย ท่าเรือ Hamad มีขนาดยาว 4 กม. กว้าง 700 เมตร ลึก 17 เมตร เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค สามารถรองรับตู้บรรทุกสินค้าได้ 2 ล้านตู้ต่อปี และกาตาร์มีแผนจะก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าแห่งที่ 2 และ 3 เพิ่มเติม ซึ่งหากสร้างเสร็จจะสามารถรองรับตู้บรรทุกสินค้าได้ถึง 6 ล้านตู้ต่อปี นอกจากนี้ ท่าเรือ Hamad ยังจะเป็นที่ตั้งของหน่วยป้องกันภัยทางทะเลของกาตาร์เพื่อดูแลพิทักษ์คุ้มครองการเดินเรือพาณิชย์ในอ่าวเปอร์เซียให้มีความปลอดภัยด้วย           

                        2.3 จุดอ่อนของไทย   

                               2.3.1 จุดอ่อนที่สำคัญของฝ่ายไทยคือ คนไทยไม่รู้เขา ไม่ค่อยรู้จักกาตาร์และมีข้อมูลเกี่ยวกับกาตาร์น้อยมาก แม้ว่ากาตาร์จะมีพรมแดนทางบกอยู่ติดกับซาอุดีอาระเบียซึ่งคนไทยรู้จักกันดีและเคยมีคนไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียจำนวนมากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่กาตาร์ก็เพิ่งจะได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์มาได้ 44 ปี ถือว่ายังเป็นประเทศที่ค่อนข้างใหม่และเริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคของ Sheikh Hamad bin Khalifa al Thani เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่แล้วและเป็นพระบิดาของ Sheikh Tamim bin Hamad al Thani เจ้าผู้ครองรัฐองค์ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า กาตาร์เริ่มมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 หรือ 15 ปีที่ผ่านมา และมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างมาก เนื่องจากมีเงินทุนสะสมจากการส่งออกสินค้าพลังงาน และสะสมเข้าใน Sovereign Wealth Fund เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดให้มีผลกำไร

                               2.3.2 นักธุรกิจไทยยังไม่ได้ออกสำรวจตลาดในกาตาร์อย่างจริงจัง ไม่มีความรู้ตลาดกาตาร์ ไม่มีข้อมูลด้านกฎระเบียบการค้ากาตาร์ โดยมีความหวาดกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย กลัวสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีการก่อการร้ายกระจายไปทั่ว กลัวโรคระบาดในตะวันออกกลางที่มีข่าวอยู่เป็นระยะ กลัวความแตกต่างด้านศาสนา ประเพณี วิถีชีวิต วิธีคิด พฤติกรรมต่าง ๆ ที่แตกต่างจากไทยจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของนักธุรกิจไทย และที่สำคัญกลัวขาดทุน หรือถูกหลอกให้มาค้าขาย เพราะไม่เคยชินกับสิ่งแวดล้อมและระบบการค้าขายในกาตาร์ เป็นต้น

                               2.3.3 ไทยกับกาตาร์ห่างกันด้วยระยะทางไกล หากเปรียบเทียบกับคู่ค้าประเทศอื่น ๆ ทำให้สินค้าไทยมีค่าขนส่งที่แพงขึ้นสินค้าก็มีราคาแพงขึ้นด้วย ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าที่มาจากภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ หรือในตะวันออกกลางเอง ซึ่งมีค่าขนส่งที่ถูกกว่าและอยู่ใกล้กว่า อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยเป็นสินค้าที่เน้นคุณภาพ และคนกาตาร์รวมทั้งคนต่างชาติที่ทำงานในกาตาร์มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง แม้ว่าสินค้าไทยอาจแพงกว่าแต่คนเหล่านี้ก็ยินดีซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่าคงทนกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจไทยไม่ควรกังวล เพราะในกาตาร์มีสินค้าหลายระดับให้เลือกซื้อได้ตามกำลังเงิน

                        2.4 จุดแข็งของไทย

                               2.4.1 ปัจจุบันไทย-กาตาร์มีความสัมพันธ์ทวิภาคีอยู่ในสถานะที่ดีมาก ทั้งสองประเทศปกครองโดยระบบกษัตริย์ทำให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น โดย Sheikh Hamad bin Khalifa al Thani เจ้าผู้ครองรัฐองค์ที่แล้วได้ปูพื้นความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับประเทศไทย และได้เข้าร่วมแสดงความยินดีในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อปี 2006 ในขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ได้เดินทางไปเยือนและประชุมที่รัฐกาตาร์ในโอกาสต่าง ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่างก็ได้เดินทางไปเยือนรัฐกาตาร์เพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรีและแสวงความร่วมมือสองฝ่าย ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อยู่เสมอ

                               2.4.2 ในระดับประชาชน มีคนกาตาร์เดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณ 30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรกาตาร์ ส่วนใหญ่เดินทางไปตรวจรักษาสุขภาพในไทย ชอบระบบการรักษาพยาบาลของไทย ชอบอาหารไทย ชอบสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีและหลากหลาย ชอบแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนในไทย โดยมีการเดินทางที่สะดวกมาก ทำให้คนกาตาร์มีความนิยมชื่นชมไปประเทศไทยและชอบคนไทยที่เป็นมิตรกับคนกาตาร์ ส่วนคนไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวในกาตาร์มีจำนวนไม่มากเนื่องจากกาตาร์ไม่ใช่เมืองแห่งการท่องเที่ยวหรือมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อีกทั้งมีระบบการขอวีซ่าค่อนข้างยาก ใช้เวลา แต่จะมีข้าราชการเดินทางไปประชุมระหว่างประเทศที่กาตาร์เป็นระยะ รวมทั้งจะมีนักกีฬาเดินทางไปแข่งขันกีฬานานาชาติในประเภทต่าง ๆ ซึ่งกาตาร์ชอบเสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเสมอ

                               2.4.3 กาตาร์ไม่ใช่ประเทศที่สามารถทำการเกษตรได้เองเนื่องจากพื้นดินและสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก แต่กาตาร์มีสินค้าพลังงานมหาศาล เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีผลิตผลสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพจำนวนมาก ทั้งสองประเทศจึงสามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยกาตาร์สามารถเป็นแหล่งสำรองด้านพลังงานให้ไทย ส่วนไทยสามารถเป็นแหล่งสำรองอาหาร (Food Security) ให้แก่กาตาร์ได้

                               2.4.4 ด้านแรงงาน ประเทศไทยมีแรงงานทักษะมีฝีมือโดยเฉพาะช่างเทคนิคต่าง ๆ ที่นายจ้างชาวกาตาร์นิยมชมชอบช่างฝีมือคนไทยเพราะมีฝีมือทำงานปราณีตมากกว่าชาติอื่นและสร้างปัญหาให้กับนายจ้างน้อยกว่าคนงานชาติอื่น กาตาร์จึงมีความต้องการนำเข้าช่างฝีมือจากไทยจำนวนมากโดยเฉพาะด้านก่อสร้างที่กาตาร์กำลังก่อสร้างอยู่ทุกมุมเมือง กระทรวงแรงงานกาตาร์เคยเสนอขอทำข้อตกลงให้รัฐบาลไทยจัดส่งช่างแรงงานทักษะมีฝีมือให้กาตาร์จำนวน 30,000 คน แต่ฝ่ายไทยไม่สามารถสนองความต้องการของกาตาร์ได้ เนื่องจากช่างฝีมือยังขาดแคลนแม้กระทั่งในตลาดแรงงานไทยด้วย

 

3. การเจาะตลาดกาตาร์ (Market Access)

                        3.1 การรุกตลาดการค้า

                               3.1.1 ข้อมูลการค้ากับต่างประเทศของกาตาร์ปี 2014                    

                                         กาตาร์ส่งออกไปต่างประเทศมูลค่าพันล้าน USD 131.4 และนำเข้ามูลค่า USD 30.5 พันล้าน ได้ดุลการค้า USD 100.9 พันล้าน โดยเมื่อปี 2013 กาตาร์ส่งออกมูลค่า USD 104.9 พันล้าน นำเข้า USD 20.7 พันล้าน ได้ดุลการค้า USD 84.2 พันล้าน ดังนั้น จากสถิติจะเห็นว่า กาตาร์ได้เปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศมาโดยตลอด เนื่องจากมูลค่าน้ำมันและก๊าซมีราคาดีและสูงกว่าสินค้าหลายประเภทและมีการส่งออกจำนวนมากตามความต้องการของตลาดในประเทศอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา สำหรับสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ 5 อันดับแรกของกาตาร์ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติร้อยละ 86.5  พลาสติกร้อยละ 4 อลูมิเนียมร้อยละ 2.2  สารเคมีชีวภาพร้อยละ 1.9  ปุ๋ยไนโตรเจนร้อยละ 1.3 ในขณะที่นำเข้าจากต่างประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักร/เครื่องกลร้อยละ 15.5  รถยนต์ร้อยละ 12.7  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 10.6  เครื่องบินร้อยละ 5.9 และเหล็กร้อยละ 4.6

                                         คู่ค้าต่างประเทศ 10 อันดับแรกที่กาตาร์ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ 1) ญี่ปุ่นมูลค่า USD 33.3 พันล้านหรือร้อยละ 25.3 ของการส่งออกทั้งหมดของกาตาร์  2) เกาหลีใต้มูลค่า USD 24.8 พันล้าน คิดเป็นร้อยละ18.8  3) อินเดียมูลค่า USD16.8 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 12.7  4) จีนมูลค่า USD10.2 พันล้าน คิดเป็นร้อยละ 7.7   5) สิงคโปร์มูลค่า USD 8.1 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 6.1  6) ยูเออีมูลค่า USD6.7 พันล้าน คิดเป็นร้อยละ 5.1   7) ไต้หวันมูลค่า USD 4.4 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 3.4  8) ไทยมูลค่า USD 3.4 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 2.6  9) สหราชอาณาจักรมูลค่า USD 3.0 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 2.3  10) อิตาลีมูลค่า USD 1.9 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 1.4 โดยสินค้าที่กาตาร์ส่งออกไปประเทศเหล่านี้ที่สูงเป็นอันดับแรกได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ                               

                                         คู่ค้าต่างประเทศ 10 อันดับแรกที่กาตาร์นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ 1) สหรัฐอเมริกา มูลค่า USD 3.5 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 11.4 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด  2) จีนมูลค่า USD 3.2 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 10.5  3) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มูลค่า USD 2.5 คิดเป็นร้อยละ 8.2  4) เยอรมัน มูลค่า USD 2.2 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 7.1  5) ญี่ปุ่นมูลค่า USD 2.0 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 6.4  6) สหราชอาณาจักรมูลค่า USD 1.7 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 5.4  7) อิตาลีมูลค่า USD1.5 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 4.9  8) ซาอุดีอาระเบีย มูลค่า USD1.4 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 4.5  9) อินเดียมูลค่า USD1.2 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 3.8 และ 10) เกาหลีใต้มูลค่า USD1.0 พันล้านคิดเป็นร้อยละ 3.4                                                            

                                         จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า อุปสงค์และอุปทานของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในกาตาร์ ได้แก่ รถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสินค้าอุปโภคและบริโภคยังมีมูลค่าการนำเข้าของกาตาร์ไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มูลค่าต่ำกว่าสินค้าประเภทเครื่องจักรยนต์

                               3.1.2 ข้อมูลการค้าไทย-กาตาร์                                                                  

                                         ในปี 2014 มูลค่าการค้าไทย-กาตาร์ประมาณ USD 3.800 ล้าน โดยกาตาร์ส่งออกมาไทยมูลค่า USD 3,400 ล้าน ไทยส่งออกไปกาตาร์ประมาณ USD 400 ล้าน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของไทยไปกาตาร์ยังมีความไม่ชัดเจนเนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกโดยตู้บรรทุกสินค้า (container) จะถูกส่งไปยังท่าเรือดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัย กระบวนการนำสินค้าออกมีความสะดวกรวดเร็วและได้มาตรฐานสากล จากนั้นพ่อค้าในเมืองดูไบจะอาศัยข้อตกลง FTA ของสมาชิกกลุ่ม GCC กระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค GCC ทั้ง 6 ประเทศได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี โอมาน กาตาร์ บาห์เรน และคูเวต ดังนั้น ตัวเลขการส่งออกจากไทยไปกาตาร์บางส่วนจึงถูกซ่อนบันทึกไว้ในมูลค่าการค้าไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายไทยขาดดุลการค้าให้แก่กาตาร์มาตลาด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ ผักสด ผลไม้ อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสไทย เครื่องดื่ม รถยนต์ รถกระบะ อะไหล่รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเย็น  ส่วนไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากกาตาร์โดยมีความตกลงกันแล้วว่า กาตาร์จะขายก๊าซ LNG ให้ไทยปีละ 2 ล้านเมตริกตัน เป็นเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจน พลาสติก และปิโตรเคมี จากกาตาร์ด้วย                                                                 

                               3.1.3 การเข้าถึงตลาดกาตาร์ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง

                                         นักธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงตลาดกาตาร์ได้ด้วย 3 วิธี ได้แก่                                                  

                                         1) ร่วมมือกับนักธุรกิจผู้นำเข้าท้องถิ่นเป็นผู้ทำการตลาดและกระจายสินค้าให้เนื่องจากเป็นผู้ที่รู้ระเบียบท้องถิ่นในการนำเข้าสินค้าและการเสียภาษีศุลกากร มีความชำนาญด้าน Logistic การขนส่งสินค้า และมีประสบการณ์ด้านการตลาดในตะวันออกกลางเป็นอย่างดี ผู้นำเข้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าในเมืองดูไบและจะขยายสาขาไปดูแลธุรกิจการค้าในประเทศใกล้เคียงด้วย                                               

                                         2) การจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและแนะนำสินค้าไทยในที่แห่งเดียวกัน โดยอาจดำเนินการเช่นเดียวกันกับห้าง Dragon Mart ของจีนในเมืองดูไบเป็นแบบอย่าง ขณะเดียวกันก็จะเป็นแหล่งที่จะให้พ่อค้าได้มารู้จักสินค้าไทยและเจรจาการค้าระหว่างกันได้                             

                                         3) การจัด Business Matching ในโอกาสต่าง ๆ อาทิ การเจรจาธุรกิจในระหว่างที่มีงานแสดงสินค้าทั้งในไทยหรือในตะวันออกกลาง หรือการจัดคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปสำรวจลู่ทางการทำตลาดและเจรจาธุรกิจในกาตาร์

                               3.1.4 สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาดกาตาร์  ประเทศไทยมีจุดแข็งในสายตาของชาติตะวันออกกลางรวมทั้งกาตาร์ว่า ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ชื่อเสียงของสินค้าไทยค่อนข้างดีในมุมมองของตะวันออกกลาง ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะส่งสินค้าเข้าไปขยายการตลาดจึงมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็มีการแข่งขันกันสูงเพราะกาตาร์นำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากทั่วโลกซึ่งจะแข่งทั้งคุณภาพและราคาด้วย สำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคที่เป็นที่ต้องการของกาตาร์และคนต่างชาติในกาตาร์ เช่น

                                         - สินค้า Halal และสินค้าไม่ Halal ก็สามารถส่งเข้าไปจำหน่ายได้ เนื่องจากมีคนต่างชาติจำนวนมากในกาตาร์ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามจึงไม่ได้ยึดถือในเรื่องอาหาร Halal หรือไม่ และทางรัฐบาลกาตาร์ก็ไม่ได้จำกัดหรือกีดกันว่า สินค้าทุกประเภทที่นำเข้าต้องเป็น Halal เท่านั้น เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกับนักธุรกิจไทยที่ยังหลงเชื่อหรือได้ยินข่าวมาว่า สินค้าที่ส่งออกไปกาตาร์ต้อง Halal เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง                    

                                         - รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ มีความต้องการในกาตาร์สูง เนื่องจากระบบการเดินทางสาธารณะของกาตาร์ยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีรถเมล์ประจำทาง รถแท็กซี่หายาก ทุกคนซึ่งพอจะมีฐานะดีจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว อย่างไรก็ดี ราคารถยนต์ในกาตาร์ไม่แพงมากเนื่องจากภาษีนำเข้าไม่สูงและน้ำมันมีราคาถูก ราคารถยนต์ในกาตาร์จะถูกกว่าราคาในประเทศไทย รถกระบะไทยมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในกาตาร์ เพราะเป็นรถอเนกประสงค์นิยมใช้งานทั้งบรรทุกคนและสิ่งของได้สะดวก

                                         - เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องแช่แข็ง แอร์รถยนต์ ตลาดกาตาร์และในตะวันออกกลางมีความต้องการสูง เนื่องจากอากาศในฤดูร้อนประมาณ 5 เดือนอุณหภูมิร้อนจัดจะสูง 45-50 องศา บ้านทุกหลังและทุกห้องจะต้องมีเครื่องปรับอากาศ มิเช่นนั้นไม่สามารถจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ตู้เย็นและเครื่องแช่แข็งก็เป็นสิ่งจำนวนในกาตาร์เช่นกัน ปัจจุบันมีสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยส่งเข้าไปขายบ้าง แต่แนวโน้มน่าจะมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก เพราะกาตาร์กำลังก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022     

                                         - อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องสุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ มีแนวโน้มที่จะขายได้ดีเช่นเดียวกับเครื่องปรับอากาศ ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ กาตาร์มีการก่อสร้างอาคารจำนวนมาก อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบ้านอาคาร หรือการตบแต่ง เฟอร์นิเจอร์จากไม้เพราะกาตาร์ไม่มีไม้ จึงมีศักยภาพเช่นเดียวกัน  

                                         - สินค้าเกษตรกรรม และเกษตรแปรรูป อย่างที่ได้กล่าวแต่ต้นว่า กาตาร์ไม่สามารถทำการเกษตรได้จึงต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศทุกชนิดแม้กระทั่งลูกอินทผลัมกาตาร์ก็ยังนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สินค้าบางประเภทกาตาร์กำหนดให้ต้องเป็น Halal อาทิ ไก่สด ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย บราซิล ฝรั่งเศส สำหรับอาหารทะเล กุ้งปลาปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็งก็ขายดีในกาตาร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามซึ่งมีราคาถูกหากไทยจะส่งออกมากาตาร์ก็ต้องแข่งที่คุณภาพ ส่วนสินค้าผัก ผลไม้ไทย มีจำหน่ายในกาตาร์หลายประเภท อาทิ ลำไย เงาะ ทุเรียน มะม่วง มะขาม ขนุน มะพร้าวอ่อน ฯลฯ แต่ราคาจะสูงกว่าผักผลไม้จากประเทศอื่น เช่น จากเอเชียใต้ หรืออียิปต์ จอร์แดน เป็นต้น เนื่องจากสินค้าจากไทยมีค่าขนส่งที่สูงกว่ามาก แต่ก็ยังจำหน่ายได้ดีอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งข้าวหอมมะลิ ปลาทูน่ากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แปรรูป เพราะทั้งชาวกาตาร์และชาวต่างชาติรู้จักและยังนิยมรับประทานผลไม้และสินค้าเกษตรไทย  จึงเห็นว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางและกาตาร์จะเป็นอีกแหล่งหนึ่งนอกจากตลาดจีนที่ไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดสินค้าเกษตรไทยโดยเฉพาะผลไม้ไทยเพื่อขยายการส่งออก ทั้งนี้ กาตาร์ไม่สามารถเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนได้เลย

                                         - ต้นไม้และดอกไม้ กาตาร์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเนื่องจากปลูกเองไม่ได้อากาศไม่อำนวยและไม่มีความรู้ในด้านการเพาะดอกไม้ต้นไม้ ดอกไม้ที่จำหน่ายในกาตาร์จึงมีราคาสูงโดยนำเข้าจากหลายประเทศรวมทั้งไทย และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดกาตาร์ สำหรับต้นไม้นั้น โดยที่รัฐบาลกาตาร์กำลังเร่งพัฒนาเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิที่อากาศร้อน และปรับภูมิทัศน์ให้เป็นเมืองสากลและดูน่าอยู่มากยิ่งขึ้นเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติ จึงมีการนำเข้าต้นไม้พันธุ์ดีและคงทนที่สามารถรองรับอากาศร้อนจัดได้เข้ามาจัดสวนและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งหมู่บ้านพักอาศัยหรืออาคารสำนักงาน  นักธุรกิจจัดสวนและปรับภูมิทัศน์ในกาตาร์จึงมีความต้องการพันธุ์ต้นไม้จากประเทศไทยจำนวนมากเนื่องจากนิยมชมชอบและเชื่อมั่นว่าต้นไม้ไทยที่มีกล้าพันธ์ที่แข็งแรงและคงทนต่อสภาพภูมิอากาศของกาตาร์เป็นอย่างดี เพราะได้เคยนำเข้าจากไทยมาแล้วและมีความพอใจมาก  

                                         - เครื่องประดับ อัญมณีและจิวเวลรี่ เช่นเดียวกับสตรีอาหรับประเทศอื่น ๆ จิวเวลรี่และเครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า หรือกระเป๋าถือหนังจระเข้ ที่มีคุณภาพดีแม้ราคาจะสูง แต่สตรีกาตาร์มีกำลังซื้อสูงมาก เรื่องราคาไม่เป็นปัญหาขอเพียงสินค้าที่ไม่เหมือนใคร มีคุณภาพและเป็นที่พอใจ ก็สามารถจำหน่ายได้

                   3.2 โอกาสการลงทุน                                                                                        

                         ในอดีตธุรกิจกาตาร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นด้านพลังงาน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติซึ่งกาตาร์มีความรู้ความชำนาญธุรกิจด้านนี้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันกาตาร์พยายามที่จะขยายและส่งเสริมการประกอบธุรกิจสาขาอื่นที่ไม่ใช่พลังงานให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น รวมทั้งธุรกิจหรือสินค้าบริการต่าง ๆ นอกจากนี้ กาตาร์กำลังพัฒนาและขยายเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างถนนหนทาง รถไฟใต้ดิน โรงงานอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเพื่อรองรับกับประชากรที่จะเพิ่มขึ้นและรองรับการเป็นเจ้าภาพที่ดีในการอำนวยความสะดวกการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 และเป็นการอนุวัติการตามนโยบายของ Qatar National Vision 2030 เพื่อพัฒนากาตาร์ให้มีความทันสมัยและมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเทียบเท่าประเทศในยุโรป  ดังนั้น กาตาร์จึงได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติที่จะแสวงโอกาสเข้าไปทำธุรกิจและลงทุนในด้านต่าง ๆ ซึ่งคนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนรวมทั้งนักธุรกิจไทยจำต้องศึกษานโยบายและกฎระเบียบการลงทุนของกาตาร์อย่างจริงจัง                                                               

                         3.2.1 ตามกฎหมายของกาตาร์ ยังกำหนดให้ใช้ระบบ sponsorship กับนักลงทุนต่างชาติ กล่าวคือ ชาวต่างชาติไม่สามารถลงทุนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องลงทุนร่วมกับชาวกาตาร์โดยใช้อัตราส่วนการลงทุน 51/49 ฝ่ายกาตาร์ถือหุ้นใหญ่ และฝ่ายกาตาร์เท่านั้นที่จะขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจได้ คนต่างชาติขอเองไม่ได้ ส่วนผลประโยชน์แล้วแต่จะเจรจาตกลงกันเอง  ดังนั้น โครงการธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs ที่ประกอบการในกาตาร์ก็อยู่ภายในหลักการนี้ทั้งหมด

                         3.2.2 Qatar National Vision 2030  มีเป้าหมายที่จะพัฒนากาตาร์ให้มุ่งสู่การเป็นประเทศ “World Class Infrastructure” โดยรัฐบาลกาตาร์จะใช้เงินลงทุนจำนวน USD150 พันล้าน ประกอบกับกาตาร์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 รัฐบาลกาตาร์จึงมีการวางแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับอนาคตการเป็นเมืองใหม่ของกาตาร์เอง จึงมีโอกาสรสร้างงานสร้างการลงทุนในกาตาร์ สำหรับแผนงานก่อสร้างที่สำคัญภายใต้ Vision 2030 อาทิ 

                                    - โครงการลงทุนสร้างถนนในกาตาร์ มูลค่า USD 20 billion                     

                                    - โครงการลงทุนสร้างรถไฟ มูลค่า USD 25 billion                                 

                                    - โครงการลงทุนสร้างสนามบิน Hamad International Airport มูลค่า USD 15.5 billion ซึ่งได้สร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2014                                   

                                    - โครงการลงทุนก่อสร้างสนามกีฬามูลค่า USD 4 billion                         

                                    - โครงการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก Hamad Port มูลค่า USD 8 billion จะเปิดบริการเต็มรูปแบบปลายปี 2016                                                                                       

                                    - โครงการสร้างรถไฟใต้ดินในกรุงโดฮา มูลค่า USD20 billion ในกรุงโดฮา ซึ่งกำลังก่อสร้างสายสีแดงและสายสีทอง คาดว่าจะเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า                                              

                                    - โครงการก่อสร้างเครือข่ายคมนาคมในกรุงโดฮามูลค่า USD 1 billion      

                                    - โครงการก่อสร้าง Doha Festival City มูลค่า USD 1.37 billion             

                                    - โครงการสร้างเมืองใหม่ที่ Lusail City พื้นที่ 35 ตรม.จะก่อสร้างบ้านพัก 2 แสนหลังสำหรับประชากร 2.5 แสนคน

                                    - โครงการ Hamad Medical City จะเป็น Hospital complex ที่ใหญ่สุดในภูมิภาค จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2018                                                                                       

                                    นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนอีกมากมาย ซึ่งเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยสามารถเข้ามาร่วมงานในกาตาร์ได้ไม่ว่าเป็นเรื่องแรงงานไทยหรือสินค้าวัสดุก่อสร้างสุขภัณฑ์ เครื่องตกแต่งต่าง ๆ ที่ยังสามารถเข้ามาได้อีกมาก อย่างไรก็ดี โครงการขนาดใหญ่ผู้ประมูลงานได้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของทางยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ที่มีศักยภาพเงินทุนจำนวนมากและมีความมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งมีทีมงานที่เชี่ยวชาญการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ส่วนนักธุรกิจไทยหากสนใจอาจสามารถเจรจารับ sub-contract ส่วนหนึ่งของโครงการจากผู้ได้รับการประมูล

                         3.2.3 ธุรกิจที่คนไทยมีศักยภาพ (SMEs) โดยที่นักธุรกิจไทยส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจรายย่อยและมีเงินทุนไม่มาก อาจพิจารณาเข้าไปลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในกาตาร์ได้โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ซึ่งจากการสำรวจเห็นว่า มีหลายด้านที่คนไทยมีศักยภาพและมีผลงานเป็นที่พอใจของตลาดกาตาร์รวมทั้งคนต่างชาติด้วย การลงทุนธุรกิจบริการ อาทิ

                                    - ร้านอาหารไทย ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยที่คนไทยเป็นผู้ดำเนินการและมีพ่อครัวแม่ครัวเป็นคนไทยปรุงอาหารด้วยรสชาดไทยแท้ประมาณ 10 ร้าน แต่อาหารไทยยังเป็นที่นิยมของคนต่างชาติและคนกาตาร์ จำนวนร้านอาหารไทยที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอตอบสนองหรือรองรับความต้องการรับประทานอาหารไทยของคนในกาตาร์ได้ มีศักยภาพที่จะลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยเพิ่มได้อีกมาก

                                    - ร้านสปาและนวดแผนไทย มีร้านประเภทนี้ในกาตาร์ที่ดำเนินการโดยคนไทยและพนักงานคนไทยประมาณ 15 ร้าน แยกเป็นร้านนวดสำหรับบุรุษ และร้านนวดสำหรับสตรี ซึ่งยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการผ่อนคลายและทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาสุขภาพตามวิธีแบบแผนโบราณของไทย จึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สามารถเข้าไปขยายการลงทุนในกาตาร์ได้

                                    - การรักษาพยาบาล  ชาวกาตาร์นิยมไปตรวจรักษาสุขภาพที่ประเทศไทยแต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก ทำให้มีนักธุรกิจกาตาร์สนใจเชิญโรงพยาบาลเอกชนไทยที่มีชื่อเข้ามาร่วมทุนบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลหรือเปิดโรงพยาบาลใหม่ในกาตาร์ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ อาจเนื่องจากความไม่พร้อมและไม่เพียงพอด้านบุคลากรของไทย และไทยยังประสงค์ให้คนกาตาร์เดินทางไปรักษาตรวจสุขภาพที่ประเทศไทยมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังเป็นธุรกิจอีกประเภทที่นักธุรกิจกาตาร์มีความพยายามที่จะให้ฝ่ายไทยมาร่วมดำเนินการให้การรักษาพยาบาลในกาตาร์

                                    - ธุรกิจซ่อมล้างเครื่องปรับอากาศ กาตาร์เป็นประเทศที่อยู่กลางทะเลทรายในฤดูร้อน 5-6 เดือนที่มีอากาศร้อนจัดเฉลี่ย 45-50 องศา บ้านทุกหลังทุกห้องจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถทนพักอยู่ได้ เครื่องปรับอากาศทำงานเกือบตลอด 24 ชั่วโมงประกอบกับมีพายุทรายเป็นระยะทำให้เครื่องสกปรกและเสื่อมสภาพเร็วขึ้น การบำรุงรักษาและให้บริการล้างเครื่องปรับอากาศเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ในกาตาร์ยังขาดแคลนช่างล้างเครื่องปรับอากาศที่เชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ ช่างล้างแอร์หายากส่วนใหญ่เป็นชาวอาเซียใต้ อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ซึ่งไม่ค่อยมีความชำนาญและวิธีบริการไม่ดีมาก ช่างไทยมีทักษะความรู้ความชำนาญการซ่อมล้างเครื่องปรับอากาศดีมากและมีความสุภาพมากกว่า การลงทุนเปิดศูนย์บริการซ่อมล้างเครื่องปรับอากาศในกาตาร์น่าจะมี demand สูงและมีโอกาสไปได้ดี ทั้งนี้ อัตราค่าบริการล้างเครื่องปรับอากาศในกาตาร์สูงกว่าค่าบริการในประเทศไทยถึง 5 เท่า       

                                    - ธุรกิจซ่อมล้างรถยนต์ (car care) เช่นเดียวกับธุรกิจซ่อมล้างเครื่องปรับอากาศที่ช่างไทยมีทักษะความรู้ความชำนาญผลงานน่าเชื่อถือมากกว่าช่างจากชาติอื่น ประกอบกับสภาพในกาตาร์ที่ทุกคนจะเดินทางด้วยรถส่วนตัวเป็นหลัก คนกาตาร์และคนต่างชาติจะขับรถยนต์อย่างเดียวไม่ได้ดูแลหรือบำรุงรักษารถยนต์ด้วยตนเองเท่าทีควร จึงเป็นอีกธุรกิจที่คนไทยสามารถเข้ามาเปิดศูนย์บริการได้ โดยสามารถแข่งขันในด้านผลงานและคุณภาพการบริการที่ดี

                                    - ธุรกิจการปรับภูมิทัศน์ (landscape) เป็นอีกธุรกิจที่กำลังมาแรง เพราะกาตาร์มีการขยายเมืองและมีโครงการก่อสร้างจำนวนมาก จึงมีนโยบายและเป้าหมายที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เมืองมีความเป็นธรรมชาติร่มรื่นและทันสมัยน่าอยู่ โดยที่กาตาร์ขาดแคลนต้นไม้พันธุ์ไม้ดีๆ ที่คงทนทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้หอม ไม้ประดับ จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด อีกทั้งยังไม่มีความชำนาญในด้านการปรับภูมิทัศน์และการจัดสวนขนาดใหญ่ บริษัทที่มีอยู่เป็นนักธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปดำเนินธุรกิจประเภทนี้ เห็นว่าน่าจะเป็นธุรกิจอีกสาขาที่ภาคเอกชนไทยที่มีความชำนาญด้านการจัดสวนและจำหน่ายพันธุ์กล้าไม้สามารถเข้าไปแสวงโอกาสให้บริการธุรกิจด้านนี้ในกาตาร์ได้

 

4. บทสุดท้าย

                        สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลในเบื้องต้นที่ยังมีรายละเอียดอีกมากในการเข้าถึงและเข้าใจการตลาดในกาตาร์และภูมิภาคตะวันออกกลางรวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ของท้องถิ่น มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า "อยากจะได้ลูกเสือ ก็ต้องเข้าถ้ำเสือ" เช่นเดียวกันกับนักธุรกิจไทยหากสนใจที่จะเข้าถึงตลาดของประเทศกาตาร์อย่างจริงจัง ก็ต้องเข้ามาลองศึกษาและสำรวจลู่ทาง แสวงหาข้อมูล มาสัมผัสด้วยตัวเอง มองด้วยสายตาตัวเอง จึงจะสามารถประเมินได้ว่าจะเข้าไปเจาะตลาดการค้าการบริการได้อย่างไร ขนาดไหน ถึงจะเหมาะสมกับสินค้าหรือธุรกิจที่เราต้องการเข้าไปขยายตลาด ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ยินดีที่จะให้ข้อมูลและคำปรึกษา หรือแนะนำบริษัทหรือนักธุรกิจท้องถิ่นให้แก่นักธุรกิจไทยที่สนใจตลาดกาตาร์ และพร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าไปขยายตลาดในกาตาร์ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา

2 พฤศจิกายน 2558

 

*   *   *   *   *

 

                                                 

 

ภาคผนวก

ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของรัฐกาตาร์

 

            รายชื่อและข้อมูลการติดต่อกับหน่วยงานและองค์กรที่ดูแลด้านการนำเข้า/ส่งออก/การประกอบธุรกิจ/การลงทุน และอุตสาหกรรมของกาตาร์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจไทย ดังนี้

            1. ภาครัฐและองค์กรกึ่งรัฐบาล

                1.1 กระทรวงเศรษฐกิจและพาณิชย์ (Ministry of Economy and Commerce) website : www.nec.gov.qa/en

                1.2 สภาหอการค้ากาตาร์ (Qatar Chamber) website: http://qatarchamber.com

                1.3 Hassad Food  website : www.hassad.com/English/pages/default.aspx            

                1.4 Qatar Business Association, website : www.qataribusinessmen.org                

                1.5 Qatar Investment Authority (QIA) ที่อยู่ Q-tel Tower, Floors 2-9, Diplomatic St, P.O. Box 23224, Doha, Qatar Tel +974 4499 5900 website: www.qia.qa                                

            2. ภาคเอกชน

                2.1 Carrefour, website : www.carrefourqatar.com                                                 

                2.2 LuLu Hypermarket, Website : http://qatar.luluhypermaket.com  ในส่วนของซุปเปอร์มาเกต LuLu สามารถติดต่อกับ Mr.Keith Smith, Retail Operations Manager, Tel +974 44687790, email : [email protected]  นักธุรกิจที่สนใจส่งสินค้าไปจำหน่ายที่กาตาร์อาจติดต่อผ่านตัวแทนบริษัท LuLu ในประเทศไทยที่บริษัท E.K. Prima Exports ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท LuLu ที่ดูแลคัดเลือกสินค้าไทยและจัดส่งไปจำหน่ายที่ห้างไฮเปอร์มาเกต LuLu ทั่วโลกที่มีอยู่ 120 สาขา สำหรับผู้ประสานงานในไทยชื่อนาย K.A. Safarlula, Director, Tel. 02-6634880-1, email : [email protected], website : www.emkegroup.com                                

                2.3 Al-Meera Consumers Goods Company, website : www.almeera.com, Tel. +974 40119111, email : [email protected]                                                                                 

                2.4 Qatar National Import & Export Company, website : www.qnie.net โดยมี Mr.Ihsan Alkhiyami, Managing Director, Tel. +974 4456 2211 Fax.+974 4456 2299, email : [email protected] เป็นผู้ประสานงาน                                                                                

                2.5 Trelco Food Limited Company, website : www.trelcofood.com โดยมี Mr. Fadi Abou Haidar, General Manager, Tel. +974 4468 1810 Fax +974 4468 8944, email : [email protected] 

            3. ส่วนราชการไทย

                สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา Royal Thai Embassy, Villa 122, Al-Eithar Street, Dafna, Westbay Area, P.O.box 22474, Doha, Qatar.  Tel +974 4493 4426 Fax +974 4493 0514, email : [email protected]  website : www.thaiembassy.org/doha

เอกสารประกอบ

other-20160303-205718-996666.doc