เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ นายธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม พร้อมนายสมพงษ์ นิ่มเชื้อ อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) / ผู้แทนถาวรประจำ FAO ได้เข้าพบนาย José Graziano da Silva ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และได้ยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของ FAO (FAO Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งถือเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย
“การเข้าเป็นภาคีสมาชิกตามความตกลงรัฐเจ้าของท่าเรือดังกล่าวจะช่วยให้ไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบควบคุมเรือประมงต่างประเทศ และการป้องกันการนำเข้าสินค้าประมง IUU โดยจะสามารถเพิ่มความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการต่อต้านการทำประมง IUU กับประเทศภาคีสมาชิกความตกลงได้อย่างกว้างขวางขึ้น” เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม กล่าว
การเข้าเป็นภาคีความตกลงของไทยแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลในการนำมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคประมงไทยทั้งระบบ นอกจากนี้ การเข้าเป็นภาคีความตกลงของไทยจะช่วยสนับสนุนให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของประชาคมโลกที่ได้ร่วมมือกันต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย
มาตรการของรัฐเจ้าของท่าคืออะไร?
ทางการไทยได้นำมาตรการของรัฐเจ้าของท่ามาใช้ก่อนที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลง โดยเริ่มใช้อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่พระราชกำหนด การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ กฎหมายฉบับนี้กำหนดมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้น เพื่อไม่ให้เรือประมงต่างชาติที่ทำประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมายและนำสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย
เรือประมงต่างชาติขอเข้าเทียบท่าได้เฉพาะที่ท่าเรือที่ทางการไทยประกาศกำหนด ๒๗ ท่า ซึ่งกำหนดให้ ๑๕ ท่าใช้สำหรับเรือประมงต่างประเทศ และอีก ๑๒ ท่าสำหรับเรือประมงขนาดเล็กของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา นำสัตว์น้ำขึ้นท่า
เรือที่ประสงค์จะขอเข้าเทียบท่าจะต้องแจ้งให้ทางการไทยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๔๘ ชั่วโมง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่า เรือดังกล่าวต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธการเข้าเทียบท่า และอธิบดีกรมประมงมีอำนาจสั่งให้เรือลำนั้นออกจากประเทศไทย และแจ้งให้ทางการของรัฐเจ้าธง รัฐชายฝั่ง และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทราบด้วย ในส่วนของเรือประมงที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่า ก็ต้องยื่นคำขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าสัตว์น้ำดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย
เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการของรัฐเจ้าของท่ามีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทางการไทยกำลังพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและระบบตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า โดยระบบฯ เน้นการจัดเก็บและสอบทานข้อมูลของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบย้อนกลับอย่างบูรณาการ ซึ่งเมื่อการพัฒนาระบบเสร็จสมบูรณ์จะมั่นใจได้ว่าไม่มีสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำการประมงผิดกฎหมายเล็ดลอดเข้ามาในกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำอย่างแน่นอน