เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้นำพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เข้ายื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. ๒๐๐๖ (Maritime Labour Convention: MLC 2006) แก่นาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของไทยที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนทำงานบนเรือให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 17 ที่ไทยให้สัตยาบัน และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 12 เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน คือในวันที่ 7 มิถุนายน 2560
อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 เป็นตราสารของ ILO ที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการทำงานและความเป็นอยู่ของคนทำงานบนเรือที่ชักธงประเทศสมาชิกที่เป็นภาคี นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมโยงกับอนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เกี่ยวกับความปลอดภัยของเรือ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล อนุสัญญาฉบับนี้มีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีต้องออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานการทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การจ้างงานที่เป็นธรรม การคุ้มครองสุขภาพและสวัสดิการสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้สอดคล้องกับหลักการงานที่มีคุณค่า (Decent Work) อันเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 8 เรื่อง การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง การมีงานทำอย่างมีผลิตภาพและเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าแก่ทุกคนอีกด้วย โดยไทยเป็นประเทศลำดับที่ 77 ที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้
ที่ผ่านมา ไทยได้ออกพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซี่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 เพื่อรองรับการให้สัตยาบันดังกล่าวแล้ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกกฎกระทรวง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ภาครัฐสามารถบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้ออกกฎหมายลำดับรอง 2 ฉบับ เพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติฯ และประกาศกรมการกงสุลเรื่องหลักเกณฑ์ในการดำเนินการส่งคนประจำเรือกลับในกรณีที่เจ้าของเรือไม่ยอมส่งกลับ