การจดทะเบียนหย่า

การจดทะเบียนหย่า

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ธ.ค. 2566

| 28,586 view

การจดทะเบียนหย่า (Divorce Registration)

ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าด้วยตนเอง ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ 

1. ข้อมูลทั่วไป
     1. การจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะกระทำได้เฉพาะในกรณีการจดทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทย หรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติเท่านั้น และถือเป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย
     2. การขอจดทะเบียนฯ ต้องส่งเอกสารประกอบให้เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าเพื่อตรวจและเตรียมจัดพิมพ์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
     3. การจดทะเบียนสมรส และทะเบียนหย่า ไม่เสียค่าธรรมเนียม

2. หลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนหย่า กรณีทั้งสองฝ่ายอยู่ในประเทศกาตาร์
     1. คำร้องขอจดทะเบียนหย่า ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่หย่าแล้ว
     2. หนังสือสัญญาหย่า ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่หย่า
     2. ต้นฉบับทะเบียนสมรสของทั้งสองฝ่าย
     3. หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุของทั้งสองฝ่าย
     4. บัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย
     5. ในวันจดทะเบียนหย่า กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของพยาน

การจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน

(คู่หย่าอีกฝ่ายอยู่ที่ประเทศไทย)

หลักเกณฑ์

1.      คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์จะต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าด้วยตนเอง ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ ระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น.  วันอาทิตย์ – วันพฤหัสบดี (เว้นวันหยุดราชการ)

2.      สำหรับบุคคลที่จดทะเบียนสมรสก่อนวันที่ 5 มิถุนายน 2546 คู่หย่าฝ่ายหญิงจะต้องมีหนังสือเดินทางไทย และหลักฐานทะเบียนราษฎรที่เป็นชื่อสกุลคู่หย่าฝ่ายชาย เพื่อใช้ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่า

3.       ในวันจดทะเบียนหย่า กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง หรือบัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของพยาน

การหย่าต่างสำนักทะเบียน คือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่หย่าทั้งสองฝ่าย โดยที่ต่างฝ่ายต่างอยู่คนละแห่ง ไม่สามารถเดินทางไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเดียวกันได้ ทั้งนี้ คู่หย่าจะต้องตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียนใดเป็นผู้จดทะเบียนให้ การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนแห่งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

 

การหย่าต่างสำนักทะเบียน มี 2 แบบ ดังนี้

แบบ 1 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยเป็นผู้ยื่นเรื่องที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย

สำนักทะเบียนแห่งที่ 1  คือ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย

สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งจะเป็นผู้จดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้

ข้อมูลทั่วไป  คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยเป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนที่ประเทศไทยก่อน 

เอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังจากที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารแล้ว จะดำเนินการติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์เพื่อมาดำเนินการจดทะเบียนหย่า (ด้วยตนเอง) ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้

ขั้นตอนการดำเนินการ

1.       เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารการหย่าจากสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยซึ่งส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว จะดำเนินการติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์เพื่อมาลงลายมือชื่อในเอกสารการหย่า

2.       ในวันนัดหมาย คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์จะต้องจัดเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

          2.1  กรอกแบบฟอร์ม “คำร้องนิติกรณ์” ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

          2.2  หนังสือเดินทาง และ/หรือบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริงที่ยังมีอายุอยู่ (หากเป็นชาวต่างชาติ ให้แสดงหนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ)

          2.3  สำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

          2.4 บัตรถิ่นพำนักในกาตาร์ (QID)

          2.5  ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมรสฉบับจริง หรือ สำเนาที่มีตราประทับรับรองจากสำนักงานเขต/อำเภอ (หากไม่มี จะต้องไปดำเนินการขอคัดสำเนามาก่อน)

3.       สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์ในวันที่มาจดทะเบียนหย่า และจะส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยเพื่อมอบให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยต่อไป

แบบที่ 2 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่กาตาร์เป็นผู้ยื่นเรื่องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

สำนักทะเบียนแห่งที่ 1  คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ

สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 คือ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้จดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้

ข้อมูลทั่วไป  คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์เป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (จะต้องเตรียมเอกสารจากคู่หย่าที่อยู่ประเทศไทยเพื่อประกอบการยื่นขอ) เอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย (ตามที่แจ้ง) ทั้งนี้ สำนักทะเบียนที่ประเทศไทย จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้

ขั้นตอนการดำเนินการ

   เอกสารที่ใช้และขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง 

   1. จัดเตรียมเอกสารจากคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทย

       1.1 หนังสือสัญญาหย่า  ต้องกรอกข้อความรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งข้อตกลงเรื่องทรัพย์สิน บุตร เรื่องอื่น ๆ และคำนำหน้าชื่อ ฝ่ายหญิงหลังการหย่า โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานคนไทย 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองลายมือชื่อของคู่หย่าและพยานทั้งสองด้วย (ส่วนช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์ให้เว้นว่างไว้ เพื่อมาลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ)

             คำแนะนำการกรอกหนังสือสัญญาหย่า :

             –  ข้อตกลงในการหย่าเรื่องบุตร โปรดระบุจำนวนบุตร ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด และอายุของบุตรแต่ละคน (ปีบริบูรณ์) หากมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุน้อยกว่า 20 ปี บริบูรณ์) ต้องระบุผู้ที่จะมีอำนาจปกครองบุตรภายหลังการหย่าด้วย แต่หาก   ไม่มีบุตรร่วมกัน ให้ระบุว่า “ไม่มี”

             –  ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องทรัพย์สินให้เขียนว่า “ไม่ระบุ”

             –  ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องอื่น ๆ ให้เขียนว่า “ไม่มี”

        1.2 สำเนาเอกสารประจำตัวของคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยและพยานทั้งสอง ซึ่งต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ

   2.   จัดเตรียมเอกสารของคู่หย่าที่อยู่ในกาตาร์      

         2.1  กรอกแบบฟอร์ม “คำร้องขอจดทะเบียนหย่า

                คำแนะนำการกรอกคำร้องขอจดทะเบียนหย่า

                –  ฝ่ายหญิงจะต้องวงเล็บนามสกุลเดิมก่อนสมรสไว้ด้วย  (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)

                –  การกรอกอายุจะต้องเป็นอายุที่ครบปีบริบูรณ์ เช่น อายุ “30 ปี 7 เดือน” ให้กรอกอายุ  “30 ปี”

                –  ช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทยให้เว้นว่างไว้

          2.2  กรอกแบบฟอร์ม “บันทึก เรื่อง การจดทะเบียนการหย่าต่างสำนักทะเบียน “

                คำแนะนำการกรอกบันทึกเรื่องการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน

                –  ข้อมูลของนายทะเบียนให้เว้นว่างไว้

           2.3  กรอกแบบฟอร์ม “คำร้องนิติกรณ์”

           2.4  หนังสือเดินทาง และ/หรือบัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริงที่ยังมีอายุอยู่ (หากเป็นชาวต่างชาติ ให้แสดงหนังสือเดินทางของประเทศนั้น ๆ)

           2.5  สำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

           2.6 บัตรถิ่นพำนักในกาตาร์ (QID)

           2.7  ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมรสฉบับจริง หรือ สำเนาที่มีตราประทับรับรองจากสำนักงานเขต/อำเภอ (หากไม่มี จะต้องไปดำเนินการขอคัดสำเนามาก่อน)

3.      คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์จะต้องนำเอกสารตัวจริงตามข้อ 1 และ 2 มาแสดง และลงลายมือชื่อในเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูตฯ 

4.       สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดส่งเอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนที่ประเทศไทย (ตามที่แจ้ง) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า ซึ่งสำนักทะเบียนที่ประเทศไทยจะมอบใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ประเทศไทย และจะจัดส่งใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อมอบให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ในกาตาร์ต่อไป