ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐกาตาร์
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเทศไทยกับรัฐกาตาร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2523 ประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮาในปี 2545 ต่อมาเมื่อปี 2547 กาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทย ความสัมพันธ์ตลอด 32 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น
1. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ทั้งสองประเทศต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูง ทั้งนี้เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลเมื่อปี 2542 และเสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ด้วย
กาตาร์มีท่าทีต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่าเป็นกิจการภายในประเทศของไทย โดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์แสดงความสนพระทัยที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศไทยทางด้านการลงทุนและการศึกษาในภาคใต้โดยหวังว่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง
กาตาร์เคยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานช่วยเจรจาให้รัฐบาลเอรีเทรียกดดันให้ปล่อยลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกกลุ่มติดอาวุธจับไปเป็นตัวประกัน ในปี 2549
2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในปี 2554 ไทยและกาตาร์มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 2,804,112.836 ดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 286,270,322 ดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 2,517,842,514 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 2,231,572,192 ดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าออกของไทยไปกาตาร์ที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เครื่องจักรกล อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกาตาร์ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์
สหพันธ์ธุรกิจบริการออกแบบและก่อสร้างแห่งประเทศไทย (federation of Design and Construction Services of Thailand ? FEDCON) ได้รับงานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ซึ่งจัดขึ้นในปี 2549 และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับเป็นอาคารโรงพยาบาล Hamad Medical Center รวมทั้งมีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอื่น เช่น บริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง กรุ๊ป จำกัด (Powerline Engineering Group of Companies Ltd.) และบริษัท ฤทธา เป็นต้น
ในปี 2554 มีคนไทยอยู่ในกาตาร์ ประมาณ 2,000 คน (สถิติจากกระทรวงมหาดไทยกาตาร์) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ โดยร้อยละ 90 ทำงานในภาคการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพลังงาน นอกจากนั้นอยู่ไนภาคบริการ
ด้านพลังงาน บริษัท ปตท สผ จำกัด มหาชน ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในรายชื่อ Bidding List สำหรับการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในกาตาร์ และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาศักยภาพปิโตรเลียมของแปลงสำรใจน้ำมันต่าง ๆ ที่กำลังจะเปิดประมูลเพิ่ม อาทิ แปลงที่ 3 เพื่อเข้าร่วมการประมูลต่อไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 Qatargas ซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของกาตาร์ได้ลงนามทำความตกลง Head of Agreement กับ ปตท. สผ. ในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ LNG ให้ ปตท สผ ในระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มส่งให้ไทยได้ในปี 2554 ล่าสุด ทาง บริษัท ปตท ได้ปรับแผนการซื้อขายกับ Qatargas โดยจะรับซื้อจากตลาดจร (spot market)แทนการซื้อขายในระยะยาว อย่างไรก็ตาม บริษัท ปตท สผ ยังคงสนใจในการจัดทำข้อตกลงการซื้อขายในระยะยาวกับกาตาร์หากในอนาคตมีความต้องการใช้ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2554 บริษัท ปตท ได้ลงนามความตกลงจัดส่งก๊าซ LPG กับบริษัท Qatar Internatioanl Petroleum Marketing Company (Tasweeq) และสั่งซื้อก๊าซ LPG จาก บริษัท Tasweeq ปริมาณ 270,000 ตัน
บริษัท SCG ได้มีการทำความตกลงลงนามสัญญาร่วมลงทุน (Joint Venture) กับบริษัท Qatar Petroleum Investment (QPI) ในโครงการปิโตรเคมี Long Son Petro Chemical ในเวียดนาม เมื่อปี 2552 ทั้งนี้ บริษัท QPI อยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานในประเทศไทยเพื่อช่วยในการดำเนินการในโครงการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในเวียดนามเป็นไปอย่างราบรื่น อีกทั้ง สนับสนุนโครงการในการขยายการลงทุนในด้านพลังงานอื่น ๆ ในประเทศไทยและภูมิภาค
3. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2554 มีชาวกาตาร์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 20,019 คน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกาตาร์ โดยนอกจากจะเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวกาตาร์ยังนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอีกด้วย
4. ความสัมพันธ์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
กาตาร์ได้ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมในไทยโดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักศึกษาที่มวิทยาลัยอิสลามยะลาจังหวัดปัตตานี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ของกาตาร์เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550
H.E. Dr. Ghaith Mubarak Ali Imran Al Kuwari รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ได้เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 29- 30 มกราคม 2555 เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในพิธีวางศิลารากฐานอาคารโรงพยาบาล Sheikh Jassim Bin Muhammad Bin Thani ของมวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์