ความสัมพันธ์ทั่วไป
ราชอาณาจักรไทยกับรัฐกาตาร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2523 ประเทศไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮาในปี 2545 ต่อมาเมื่อปี 2547 กาตาร์ได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทย ความสัมพันธ์ตลอด 36 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น
1. ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ทั้งสองประเทศต่างให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูง ทั้งนี้ อดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani) เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลเมื่อปี 2542 และเสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ด้วย
กาตาร์มีท่าทีต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่าเป็นกิจการภายในประเทศของไทย โดยอดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani) แสดงความสนพระทัยที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศไทยทางด้านการลงทุนและการศึกษาในภาคใต้โดยหวังว่าจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาอีกทางหนึ่ง
กาตาร์เคยมีบทบาทสำคัญในการประสานงานช่วยเจรจาให้รัฐบาลเอริเทรียกดดันกลุ่มติดอาวุธให้ปล่อยลูกเรือประมงชาวไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันในปี 2549
2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในปี 2559 การค้าไทย-กาตาร์มีมูลค่า 2,728.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกาตาร์ส่งออกมาไทย 2,441.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปกาตาร์ 287.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของไทยไปกาตาร์ยังมีความไม่ชัดเจนเนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกโดยตู้บรรทุกสินค้า (container) จะถูกส่งไปยังท่าเรือเมืองดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัย กระบวนการนำสินค้าออกมีความสะดวกรวดเร็วและได้มาตรฐานสากล จากนั้นพ่อค้าในเมืองดูไบจะอาศัยข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสมาชิกกลุ่ม GCC กระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค GCC ทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ บาห์เรน และคูเวต ดังนั้น ตัวเลขการส่งออกจากไทยไปกาตาร์บางส่วนจึงถูกซ่อนบันทึกไว้ในมูลค่าการค้าไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายไทยขาดดุลการค้าให้แก่กาตาร์มาโดยตลอด
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยไปกาตาร์ ได้แก่ ผักสด ผลไม้ อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรสไทย เครื่องดื่ม รถยนต์ รถกระบะ อะไหล่รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องเย็น ส่วนไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากกาตาร์โดยมีความตกลงกันแล้วว่า กาตาร์จะขายก๊าซ LNG ให้ไทยปีละ 2 ล้านเมตริกตัน เป็นเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจน พลาสติก และปิโตรเคมี จากกาตาร์ด้วย
3. ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2559 มีชาวกาตาร์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 30,000 คน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวกาตาร์ โดยนอกจากจะเข้ามาท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวกาตาร์ยังนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอีกด้วย
4. ความสัมพันธ์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2550 กาตาร์ได้ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมในไทยโดยอดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ได้บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนและหอพักนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาจังหวัดปัตตานี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ของกาตาร์ในขณะนั้นเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมในพิธีเปิด
H.E. Dr. Ghaith Mubarak Ali Imran Al Kuwari รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) ของกาตาร์ในขณะนั้นได้เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 29 - 30 มกราคม 2555 เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในพิธีวางศิลารากฐานอาคารโรงพยาบาล Sheikh Jassim Bin Muhammad Bin Thani ของมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากอดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
5. การเยือนที่สำคัญ
5.1 ฝ่ายไทย
พระราชวงศ์
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ (วันที่ 28 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2549 เสด็จฯ เยือนกาตาร์เพื่อทรงร่วมการแข่งขันกีฬาแบดมินตันในนามทีมชาติไทยในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 15 ณ กรุงโดฮา)
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (วันที่ 9 - 10 มกราคม 2555 เสด็จฯ เยือนกาตาร์เพื่อทอดพระเนตรมหาวิทยาลัย Hamad Bin Khalifa University และการดำเนินงานด้านการศึกษาของ Qatar Foundation ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ H.H. Sheikha Moza Bin Naser Al Missned พระชายาเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ Qatar Foundation)
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี (วันที่ 22- 29 มีนาคม 2555 เสด็จเยือนกาตาร์เพื่อทรงร่วมการประชุมวิชาการ The Sixth International Conference on Environmental Mutagens in Human Populations ตามคำกราบทูลเชิญจากมูลนิธิ Qatar Foundation)
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (ระหว่างปี 2555 - 2558 เสด็จเยือนกาตาร์เพื่อทรงร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรม ทางอาญา ครั้งที่ 13)
รัฐบาล
- ปี 2527 ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน
- เดือนพฤศจิกายน 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม 2544 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ (สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ)
- วันที่ 13 - 16 มิถุนายน 2548 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม South Summit ครั้งที่ 2 ณ กรุงโดฮา
- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์ เพื่อขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเจ้าผู้ครองรัฐฯ เสด็จฯ เยือนไทยในวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 และวันที่ 8 - 12 กันยายน 2546 นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 25 - 27 เมษายน 2547 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองนายกรัฐมนตรี เยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมโครงการอาหารฮาลาลของไทย
- วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2549 นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม Sixth International Conference on New or Restored Democracies (ICNRD–6) ณ กรุงโดฮา
- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน
- วันที่ 2 - 3 มีนาคม 2552 นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนกาตาร์ เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีกระทรวงการค้ากาตาร์ และหารือกับนักธุรกิจกาตาร์
- วันที่ 24 พฤษภาคม 2552 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แวะเยือนกาตาร์ภายหลังการประชุม GASTECH 2009 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยได้หารือกับผู้แทนระดับสูงของ Qatar Gas และเยี่ยมชมโรงงานผลิต LNG ในเขตอุตสาหกรรม Ras Lafan
- วันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าเฝ้าเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศ
- วันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 15 - 16 พฤษภาคม 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางเยือนรัฐกาตาร์อย่างเป็นทางการ
- วันที่ 11 - 14 เมษายน 2558 พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางเยือนกาตาร์ เพื่อร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรม ทางอาญา ครั้งที่ 13
- วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2558 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงาน ครั้งที่ 6 ที่กรุงโดฮา
- วันที่ 1 - 3 มีนาคม 2559 พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเยือนกาตาร์ เพื่อส่งเสริมการรักษาและขยายตลาดแรงงานไทยในตะวันออกกลาง และหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีบริหารการพัฒนา แรงงานและกิจการสังคม
- วันที่ 4 - 6 เมษายน 2559 ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนรัฐกาตาร์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างไทยกับกาตาร์ในกรอบพหุภาคีต่าง ๆ
- วันที่ 18 - 21 เมษายน 2559 นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางเยือนรัฐกาตาร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย (2016 Asia Regional Forum on Business and Human Rights)
- วันที่ 23-26 เมษายน 2559 นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และผู้แทนสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ เดินทางเยือนรัฐกาตาร์ เพื่อส่งเสริมโอกาสการจ้างแรงงานไทย รวมทั้งศึกษาสภาพการจ้างงานและพบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกาตาร์
5.2 ฝ่ายกาตาร์
พระราชวงศ์
1. H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
- วันที่ 12 - 15 เมษายน 2542 เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระอาคันตุกะของรัฐบาลและได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2542
- วันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2549 เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์พร้อมพระชายา เสด็จฯ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. H.E. Sheikh Joann Bin Hamad Al-Thani พระโอรสของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
- วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2549 ในฐานะ Ambassador for the 15th Asian Games Torch Relay เสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อทรงนำคบเพลิงเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 15 มายังประเทศไทย
3. H.E. Sheikh Thani Bin Hamad Al-Thani พระอนุชาต่างมารดาของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
- วันที่ 25 - 26 ตุลาคม 2560 เสด็จเยือนไทยในฐานะผู้แทนเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
รัฐบาล
- วันที่ 18 - 19 มิถุนายน 2545 Sheikh Hamad Bin Faisal Al-Thani รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้ากาตาร์ เข้าร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- วันที่ 20 - 22 กรกฎาคม 2546 Sheikh Hamad Bin Faisal Al-Thani รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้ากาตาร์ เข้าร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ 26 - 30 มกราคม 2550 H.E. Mr. Faisal Bin Abdulla Al-Mahmoud รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศาสนสมบัติ และกิจการศาสนากาตาร์ เยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดอาคารเรียนวิทยาลัยอิสลามยะลา จ.ปัตตานี
- วันที่ 29 - 30 มกราคม 2555 H.E. Dr. Ghaith Mubarak Ali Imran Al Kuwari รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม (Minister of Endowment and Islamic Affairs) เยือนไทย เพื่อเป็นผู้แทนพระองค์เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ในพิธีวางศิลารากฐานอาคารโรงพยาบาล Sheikh Jassim Bin Muhammad Bin Thani ของมวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างจากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์
- วันที่ 4 - 5 มิถุนายน 2558 Dr. Hassan Lahdan Saqr Al-Mohannadi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกาตาร์ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม AsianSIL Inter-Sessional ณ กรุงเทพฯ
- วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ 2558 นาย Mohammed Bin Abdullah Bin Mutib Al-Rumaihi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ เดินทางเยือนประเทศไทย
- วันที่ 2 - 5 พฤศจิกายน 2558 พลตรี Hamad Mohammed Al-Hajri ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกาตาร์ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมงาน Defense & Security 2015 ณ กรุงเทพฯ
- วันที่ 8 - 10 ตุลาคม 2559 นาย Ahmed bin Abdullah bin Zaid Al-Mahmoud รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านภารกิจคณะรัฐมนตรีของกาตาร์ เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ณ ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2560 Dr. Mohammed Bin Saleh Al-Sada รัฐมนตรีพลังงานและอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม 7th Asia Ministerial Roundtable on Energy ณ กรุงเทพฯ
การลงทุนในกาตาร์เป็นไปตาม New Foreign Investment Law (No. 13) ปี ค.ศ. 2000 ซึ่งได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) โดยมีประเด็นสำคัญ คือ นักลงทุนจากต่างประเทศสามารถลงทุนในธุรกิจภาคต่าง ๆ ของกาตาร์ได้ โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการค้า กาตาร์ (Ministry of Economy and Commerce) เป็นหน่วยงานอนุมัติใบอนุญาตสำหรับการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนต่างประเทศสามารถมีหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด แต่มีธุรกิจบางประเภทที่นักลงทุนเหล่านี้สามารถเป็นผู้ถือหุ้นได้ทั้งหมด ได้แก่ ธุรกิจด้านการเกษตร ด้านการก่อสร้าง ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ด้านพลังงาน และด้านการทำเหมือง อย่างไรก็ดี มีธุรกิจบางประเภทที่ยังมีการสงวนไว้ ได้แก่ ธุรกิจด้านการธนาคาร การประกันภัย commercial agencies และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
(1) รัฐบาลกาตาร์ให้การสนับสนุนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยได้ออกกฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเขตพื้นที่ที่กำหนดในกาตาร์ได้ นอกจากนั้น กฎหมายที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2547 อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ใน 3 โครงการ คือ Pearl Island, West Bay Lagoon และ Al Khor Resort
(2) ต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 รัฐบาลกาตาร์ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่หลังจากที่ His Highness Sheikh Hamd bin Khalifa Al-Thani อดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์/พระบิดาของเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์องค์ปัจจุบัน ได้ให้ความเห็นชอบต่อมติคณะรัฐมนตรีกาตาร์เกี่ยวกับการขายและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ในกาตาร์ โดยประชาชนจากประเทศอื่น ๆ ใน GCC สามารถเป็นเจ้าของที่ดินและที่พักอาศัยในเขต Lusail, Al Kharaij และ Jebel Thiyab ได้ ในขณะที่ชาวต่างชาติอื่น ๆ สามารถเช่าอสังหาริมทรัพย์ใน 18 เขตพื้นที่ที่ได้มีการกำหนดไว้เป็นเวลา 99 ปี โดยสามารถต่อสัญญาเช่าได้
กาตาร์สนับสนุนให้มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนในกาตาร์ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ได้แก่
(1) การจัดตั้ง Qatar Financial Center (QFC) ซึ่งเป็นสถาบันอิสระและเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและธุรกิจที่สำคัญของกาตาร์ โดยมีการจัดตั้งสถาบันทางเศรษฐกิจและการเงินในภาคต่าง ๆ ขึ้นในศูนย์ดังกล่าว เช่น ภาคการธนาคาร ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคการประกันภัย เป็นต้น โดยบริษัทต่าง ๆ ภายใน QFC จะได้รับผลประโยชน์ที่สำคัญคือ การกำหนดกฎระเบียบเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทที่ต่ำ มีอัตราความเสี่ยงต่ำ และลดขั้นตอนทางราชการ นอกจากนี้ จะมีการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 3 ปีให้แก่บริษัทดังกล่าว หลังจากนั้น จะมีการเก็บภาษีในอัตราต่ำที่สอดคล้องกับผลกำไรของบริษัท และชาวต่างชาติสามารถครอบครองธุรกิจได้ทั้งหมด (100% full foreign ownership) ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทภายใน QFC ได้รับผลกำไรอย่างเต็มที่
(2) การจัดตั้ง Qatar Science and Technology Park โดยบริษัทจากต่างประเทศสามารถลงทุนในบริเวณดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้อุปถัมภ์ (sponsor) หรือร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น และสามารถได้รับผลตอบแทนเต็มจำนวน สำหรับธุรกิจที่บริษัทต่างชาติสามารถลงทุนได้คือ ธุรกิจด้านการวิจัย ค้นคว้าและพัฒนา ด้านการพัฒนาสินค้า และด้านการฝึกอบรมทางวิชาการและการให้บริการคำปรึกษา ทั้งนี้ บริษัทที่จัดตั้งในบริเวณดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งรวมถึงภาษีเงินได้ นอกจากนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับประกอบธุรกิจ รวมถึงไม่มีการเก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าที่ผลิตในเขตดังกล่าว แต่จะมีการเก็บภาษีสินค้าที่มีจำนวนการจำหน่ายภายในประเทศและนอกบริเวณดังกล่าวโดยมีอัตราเท่ากับสินค้านำเข้า
เมื่อปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลกาตาร์ได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า Manateq ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบในการจัดตั้งและบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย
1) เขตเศรษฐกิจพิเศษ Um Alhoul ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ Hamad (ท่าเรือแห่งใหม่) และรองรับกิจการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทางทะเล โลหะ การขนส่ง (logistics) การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์
2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ Ras Bufontas ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติ Hamad เพื่อรองรับกิจการที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของท่าอากาศยานนานาชาติ Hamad ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ท่าอากาศยานระดับ 5 ดาวของโลก (นอกเหนือจาก ท่าอากาศยาน Changi ของสิงคโปร์ท่าอากาศยานในฮ่องกง เมืองอินชอน และมิวนิค)
3) เขตเศรษฐกิจพิเศษ Al Karana ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกาตาร์และใกล้กับชายแดนติดกับประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อเน้นการเป็นประตูสู่ประเทศ GCC โดยรองรับการคมนาคมทางบกและทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังซาอุดีอาระเบีย
ปัจจุบัน มีชาวไทยประกอบอาชีพและอาศัยอยู่ในกาตาร์ประมาณ 3,365 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานให้แก่สายการบิน Qatar Airways ประมาณ 1,200 คน และอยู่ในภาคการก่อสร้างประมาณ 1,000 - 1,500 คน ทั้งนี้ มีธุรกิจของคนไทย 2 ประเภทในกาตาร์ ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium sized Enterprises - SMEs) เช่น ร้านอาหารไทย ร้านสปา และร้านนวด เป็นต้น และบริษัทในภาคการก่อสร้างอีก 2 แห่ง คือ (1) บริษัท TTCL รับงานก่อสร้างโครงการโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Ras Abu Fontas A2 และ A3 และ (2) บริษัท WEN Qatar ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีหุ้นส่วนร่วมเป็นชาวกาตาร์ รับงานก่อสร้างในลักษณะ subcontractor ในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กาตาร์ (Qatar Museum)