ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับรัฐกาตาร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 99,316 view

ข้อมูลทั่วไป

-------------------------

ที่ตั้ง
                                     

เป็นแหลมยื่นจากชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบียออกไปในอ่าวเปอร์เซีย

ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบาห์เรน      

พื้นที่

๑๑,๕๒๑ ตารางกิโลเมตร ลักษณะส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นทะเลทราย

ภูมิอากาศ 
 

ภูมิอากาศแบบทะเลทราย

ช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ ๑๐ องศาเซลเซียส

ฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ ๕๐ องศาเซลเซียส   

อาจเกิดพายุทรายได้ตลอดปี โดยเฉพาะช่วง เมษายน - มิถุนายน

เมืองหลวง

กรุงโดฮา (Doha)

ประชากร

๒,๔๗๑,๙๑๙ คน (กรกฎาคม ๒๕๖๐) เป็นชาวกาตาร์ เชื้อสาย เบดูอิน ประมาณ ๒๗๐,๐๐๐ คน ที่เหลือเป็นแรงงานจากต่างประเทศชาวอินเดีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ

ภาษา

ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ  และมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป

ศาสนา

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

หน่วยเงินตรา

กาตาร์ริยาล (Qatar Riyal) (อัตราแลกเปลี่ยน ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ๓.๖๕ กาตาร์ริยาล เท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ)

ผลิตภัณฑ์มวลรวม

ประมาณ ๑๗๓,๕๕๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สิ้นปี ๒๕๕๘)

รายได้ประชาชาติต่อหัว

๑๔๔,๑๓๙ ดอลลาร์สหรัฐ (สิ้นปี ๒๕๕๘)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ร้อยละ ๓.๗ (สิ้นปี ๒๕๕๘)

อัตราเงินเฟ้อ

ร้อยละ ๒.๗ (สิ้นปี ๒๕๕๗)

หนี้ภาครัฐ

ร้อยละ ๔๐ ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (สิ้นปี ๒๕๕๘)

ระบอบการปกครอง
 

ระบบราชาธิปไตย มีเจ้าผู้ครองรัฐ (Emir) เป็นประมุขปกครองรัฐ ปัจจุบันคือ His Highness Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖          

 ๑. การเมืองการปกครอง

           รัฐกาตาร์ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปี ๒๕๑๔ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติแก่สภาที่ปรึกษา (Shura Council) ซึ่งประกอบ ด้วยสมาชิกจำนวน ๔๕ คน  โดยจำนวน ๒ ใน ๓ จะมาจากการเลือกตั้ง ส่วนที่เหลือจะมาจากการแต่งตั้งโดยเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (สภาที่ปรึกษาชุดปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเมื่อ ๙ พ.ย. ๒๕๖๐ เป็นชุดที่ ๔๖ และเป็นครั้งแรกที่มีสมาชิกสตรีจำนวน ๔ คน โดยมีนาย Ahmed Bin Abdullah Bin Zaid Al-Mahmoud อดีต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแห่งรัฐด้านภารกิจ ครม. ในคณะรัฐบาลชุดก่อนดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษา) 

           สำหรับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ (H.H. Sheikh Hamad Bin Khalifa Al-Thani) ทรงพยายามที่จะปฏิรูประบบการเมืองให้เกิดเสรีภาพมากขึ้น กาตาร์มีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๒ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (Central Municipal Council) ซึ่งการเลือกตั้งกำหนดให้สิทธิสตรี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ กาตาร์ยังเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับที่แต่งตั้งให้สตรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดย Sheikha Bin Ahmad Al Mahmoud ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ปี ๒๕๔๖ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ Sheika Ghalia Bin Hamad  Al-Thani ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของกาตาร์ และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๙ Dr. Hanan Mohamed Al Kuwari ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของกาตาร์คนปัจจุบัน

           ปัจจุบัน ภายใต้การนำของ His Highness Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani เจ้าผู้ครองรัฐ (Emir) ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากพระบิดาเมื่อ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ก็ได้มีการปฏิรูประบบการเมืองโดยการแต่งตั้งคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศมากขึ้นเพื่อให้สามารถปรับตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ได้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ ๑/๒๕๕๙ (Emiri Decree 1/2016) ปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกาตาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์

 

๒.  นโยบายด้านเศรษฐกิจ
            ๒.๑ ในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ากาตาร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC และมีรายได้ประชาชาติต่อหัว ๑๔๔,๑๓๙ ดอลลาร์สหรัฐ/คน ในปี ๒๕๕๘ (รายได้ต่อหัวสูงที่สุดของโลก) เศรษฐกิจของกาตาร์ประมาณร้อยละ ๖๓ ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยปัจจุบันกาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน กาตาร์มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ ๒๕.๒๔๔ พันล้านบาร์เรล (สิ้นปี ๒๕๕๘) ซึ่งประเมินว่าจะสามารถผลิต (ในระดับการผลิตปัจจุบัน) ต่อไปได้อีกถึง ๖๒ ปี 

            ๒.๒  กาตาร์มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติประมาณ ๘๗๑.๕๘๕ หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตซึ่งนับว่ามากเป็นอันดับ ๓ ของโลกรองจากรัสเซียและอิหร่าน และมีปริมาณการผลิตในขณะนี้อยู่ที่ ๒๕ ล้านตัน/ปี

                     อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติกำลังเป็นความหวังใหม่ของกาตาร์ต่อไปในอนาคตเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่มีความปลอดภัยสูง สะอาดที่สุด และมีคุณค่าสูงที่สุด รัฐบาลกาตาร์กำลังเร่งขยายการผลิตและการส่งออก Liquefied Natural Gas (LNG) และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (Gas-based Industries) เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อะลูมิเนียม และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้เริ่มดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซ  Dolphin Project  ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวต รวมถึงการเร่งสั่งต่อเรือสำหรับบรรทุก LNG ขนาดใหญ่จำนวนมาก ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กาตาร์มีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นจุดสนใจด้านต่างๆ ของภูมิภาค  โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางทางด้านพลังงานการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี รวมทั้งการเป็นศูนย์ของแหล่งผลิต Gas to Liquid: GTL ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย ภายหลังจากที่ได้เริ่มส่งออก LNG ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา ในปี ๒๕๕๑ กาตาร์ได้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออก LNG มากที่สุดในโลก

            ๒.๓  รัฐบาลกาตาร์มีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ economic diversification เร่งแปรรูปกิจการของรัฐ (privatization) และผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรี (Deregulation/Liberalization) ทางการค้าเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และจากการที่กาตาร์มีสภาพความคล่องทางการเงินที่สูง เนื่องจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น  ทำให้มีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่สำคัญ ได้แก่ ขยายการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซ ปิโตรเคมี และ Gas to Liquid (GTL) โครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ The Pearl Qatar, โครงการก่อสร้าง The Energy City, Education City, The Science & Technology Park, The Hamad Medical City, The Sport City, The  Entertainment City นอกจากนั้น ยังได้เริ่มโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุด เพื่อเชื่อมกาตาร์กับบาห์เรน (Bahrain-Qatar Causeway) เป็นต้น

            ๒.๔  กาตาร์ต้องการเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค มีโครงการก่อสร้างสนามบินขนาดใหญ่และทันสมัยระดับโลกมูลค่า ๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้กรุงโดฮาเป็นศูนย์กลางการบิน และมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและปรับปรุงทัศนียภาพประเทศให้สวยงาม ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารขนาด ๑๐๐ ชั้น และอาคารคู่สูงขนาด ๕๑๐ เมตร บนถนน Corniche ของกรุงโดฮา ทั้งนี้ โดยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งบนฝั่งและในทะเล และยังมีโครงการอาหารปลอดภัย (Food security) อีกด้วย

 

๓.  นโยบายด้านสังคม
           ๓.๑   H.H. Sheikha Moza Bin Naser Al Missned พระชายาในอดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ประธาน Qatar Foundation for Education and Science, and Community Development  (ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษของ UNESCO ด้าน Basic and Higher Education) ได้ริเริ่มและก่อตั้งโครงการเมืองการศึกษา (Education City Project) เมื่อปี ๒๕๔๖ ทั้งนี้ โดยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาทำการเปิดสอน เช่น Weil Cornell Medical College, Carnegie Mellon University Qatar, Georgetown University School of Foreign Services in Qatar, Texas A&M University, Virginia Commonwealth School of the Arts in Qatar และ North-Western University, School of Communications and Journalism  นอกจากนี้ H.H. Sheikha Moza ยังได้จัดตั้ง Science and Technology Park ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เช่น Microsoft, Shell และ Exxon Mobil และยังทรงเป็นผู้ที่มีบทบาทนำในการส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรีในสังคมของกาตาร์ด้วย

           ๓.๒  กาตาร์เป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์  Al Jazeera  ซึ่งนำเสนอข่าวทั้งประเทศตะวันตก อิสราเอล และรัฐบาลประเทศอาหรับต่างๆ ทำให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวได้รับความนิยมสูงและมีอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนชาวอาหรับและมุสลิมเป็นอย่างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในตะวันออกกลาง จนเกิดปรากฏการณ์  Al Jazeera Effect  เกิดการตื่นตัวในทางการเมือง เริ่มมีการเรียกร้องสิทธิในการสื่อสารและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 
                   อย่างไรก็ตาม การเสนอข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ในรายการของ Al Jazeera หลายครั้งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกาตาร์กับประเทศเพื่อนบ้านอาหรับอื่นๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และตูนีเซีย นอกจากนั้น การที่สถานีโทรทัศน์ Al Jazeera ได้เสนอข่าวและรายงานเกี่ยวกับ นาย Osama bin Laden ผู้นำกลุ่ม Al-Qaeda และกลุ่มอิสลามติดอาวุธอื่น ๆ อยู่เป็นระยะ ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ทำให้รัฐบาลกาตาร์ในบางครั้งต้องอยู่ในภาวะลำบากในการที่จะรักษาดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างโลกอาหรับหรือโลกอิสลามกับประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกาตาร์ถือว่า Al Jazeera เป็นสถานีโทรทัศน์อิสระ จึงไม่แทรกแซงการเสนอข่าวของสถานีฯ และถือว่าสถานีดังกล่าวมีส่วนช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนกาตาร์เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต

            ๓.๓  รัฐบาลกาตาร์ได้พัฒนาความเป็นหนึ่งด้านการกีฬา โดยจัดตั้งสถาบัน Aspire for Sports Excellence เพื่อสร้างนักกีฬาระดับประเทศและระดับโลก สร้างสนามแข่งยานยนต์ รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้กาตาร์เป็นสถานที่แข่งกีฬาระดับโลก เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง แข่งเรือ ฟุตบอล ฯลฯ ทั้งนี้ กาตาร์เคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๑๕ เมื่อเดือนธันวาคมปี ๒๕๔๙ และได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ๒๕๖๕

 

๔.    นโยบายต่างประเทศ
           กาตาร์เป็นประเทศอาหรับที่ดำเนินนโยบายสายกลาง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council - GCC) กาตาร์มีบทบาทค่อนข้างเด่นในการดำเนินนโยบายของกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง GCC กับอิหร่านและกับอิสราเอล กาตาร์เป็นสมาชิกก่อตั้งของ ACD และเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙
           ปัจจุบันกาตาร์เป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลาง ทั้งสองฝ่ายมีความใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการทหาร กาตาร์มีบทบาทสูงในการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสงครามอ่าวครั้งที่ ๑ และมีการทำความตกลงด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกาหลายฉบับ รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาในสงครามอัฟกานิสถานและสงครามอิรักโดยสหรัฐอเมริกา ได้ตั้งศูนย์บัญชาการ (Joint Operation Center) ในกรุงโดฮา ในการปฏิบัติการในอิรัก นอกจากนั้น นับแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา กาตาร์ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการส่วนล่วงหน้า US Central Command (CENTCOM) รวมทั้งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่เมือง Al-Udied ทางตอนใต้ของประเทศด้วย
           รัฐบาลกาตาร์เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐอเมริกาเป็นพันธกรณีระหว่างทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลกาตาร์ก็เห็นความจำเป็นที่กาตาร์ในฐานะส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางจะต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาและสถานการณ์ภายในภูมิภาค ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ  ทำให้กาตาร์ได้รับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้มีการขยายความร่วมมือระหว่างกาตาร์และสหรัฐฯ เช่น ด้านพลังงานและอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการขยายความร่วมมือด้านการศึกษา โดยปัจจุบัน มีสถาบันและมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ หลายแห่งมาเปิดสาขาในกาตาร์ เช่น มหาวิทยาลัย Cornel ได้มาเปิดวิทยาลัยการแพทย์ หรือมหาวิทยาลัย Georgetown มาเปิดวิทยาลัยความสัมพันธ์ต่างประเทศที่กรุงโดฮา เป็นต้น  
           กาตาร์เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกควรจะพัฒนาไปในแนวทางที่ตอบสนองและช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ ระบบการค้าโลกจะต้องยึดมั่นในหลักการแห่งความเสมอภาค และอยู่บนมาตรฐานที่สามารถปรับใช้ได้ทั่วกัน 
           กาตาร์สนับสนุนการริเริ่มขององค์การสหประชาชาติที่จะก่อตั้งกองทุนเพื่อประชาธิปไตย หรือ United Nations Democracy Fund โดยอดีตเจ้าผู้ครองรัฐได้กล่าวในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ ว่า กาตาร์จะสมทบเงินจำนวน ๑๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าในกองทุนดังกล่าว ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ กาตาร์ได้บริจาคเงินให้กองทุนดังกล่าวจำนวน ๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนเพิ่มให้อีกจำนวน ๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
           ในระดับพหุภาคี กาตาร์เป็นสมาชิกองค์การและหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ ประมาณ ๗๐ แห่งและกำลังเพิ่มบทบาทใน Gulf Cooperation Council (GCC), Organization of Islamic Conference (OIC), Asia Cooperation Dialogue (ACD) ฯลฯ  ทั้งนี้ บทบาทในเวทีระหว่างประเทศของกาตาร์กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง เนื่องจากกาตาร์พยายามวางตัวเป็นกลางและเน้นการเจรจาและการประนีประนอม จึงทำให้กาตาร์เริ่มมีบทบาทเป็น Mediator ที่สำคัญ
           ความสำเร็จครั้งสำคัญของกาตาร์ในการเจรจาเกิดขึ้นเมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ในการเข้าไปไกล่เกลี่ยระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ของเลบานอนจนเกิด Doha Accord ขึ้น โดยสามารถช่วยให้พรรค Hizbollah (พรรคของพระเจ้า) ได้เข้าร่วมประชุมในการแบ่งอำนาจทางการเมือง และมีอำนาจในการใช้สิทธิ veto เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเลบานอน ซึ่งผลที่ตามมาคือ เลบานอนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเมื่อ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ นับเป็นการแก้ไขกรณีพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางที่สำเร็จลงได้โดยที่ไม่อาศัยอิทธิพลของมหาอำนาจจากภายนอก เช่น สหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด นอกจากนั้น กาตาร์ยังได้เป็นผู้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างเลบานอนและซีเรียในระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศเมดิเตอร์เรเนียนที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยทั้งสองประเทศได้ตกลงกันที่จะให้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้นใหม่ 
           อาจกล่าวได้ว่า ภายหลังจากการดำเนินการทางการทูตของกาตาร์จนเป็นผลให้เกิดความตกลงสันติภาพในเลบานอน ทำให้กาตาร์ได้รับการยกย่องในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและเป็นที่รู้จักมากขึ้น และความสำเร็จของกาตาร์ในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเลบานอนได้สำเร็จ (Doha Accord) ส่งผลให้อดีตเจ้าผู้ครองรัฐของกาตาร์ได้รับการชื่นชมว่า เป็นเสมือน “a modern day Metternich”  และทำให้มีการคาดการณ์กันว่า กาตาร์มีความเหมาะสมในการที่จะมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยให้เกิดความปรองดองในปาเลสไตน์ระหว่างกลุ่มอัลฟาตาห์และกลุ่มฮามัส ซึ่งกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในขณะนี้

           อย่างไรก็ดี นโยบายต่างประเทศของกาตาร์ที่มุ่งผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลักมากกว่าการประนีประนอมร่วมไปกับผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศใน GCC ทำให้เกิดวิกฤติการณ์เมื่อวันที่ ๕ มิ.ย. ๒๕๖๐ เมื่อ ๔ ประเทศอาหรับ ได้แก่ ซาอุดี อาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย มีการสั่งขับนักการทูตกาตาร์ออกนอกประเทศ ปิดสถานทูตและเรียกคนชาติของตนเองออกจากกาตาร์ ปิดพรมแดนและการสัญจรทางบก น้ำ และอากาศระหว่างกัน และไม่ให้สายการบินของกาตาร์บินผ่านน่านฟ้าของตน ต่อมาได้มีอีก ๖ ประเทศร่วมประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ด้วย ได้แก่ เยเมน ลิเบีย มัลดีฟส์ มอริเตเนีย คอโมโรส และเซเนกัล และอีก ๔ ประเทศ ประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต (จอร์แดน จีบูติ ชาด และไนเจอร์) ทั้งนี้ วิกฤต์การณ์ครั้งนี้ได้ผลักดันให้กาตาร์มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศที่เป็นเอกเทศออกห่างจากซาอุดี อาระเบียมากขึ้น และแสวงหาพันธมิตรนอกภูมิภาคทดแทน เช่น ตุรกี ส่วนในด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดนโยบายที่ต้องการพึ่งพาตนเองมากขึ้นและขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคอื่นทดแทน