ไทยยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 อย่างเป็นทางการ

ไทยยื่นสัตยาบันสารอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 อย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 พ.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 671 view
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 นายเกริกพันธุ์ ฤกษ์จำนง เอกอัครราชทูต และรองผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ในฐานะอุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยฯ ได้นำหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เข้ายื่นสัตยาบันสารอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)  ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 แก่นาย Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของไทยที่จะปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ของคนทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยอนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 16 ที่ไทยให้สัตยาบัน และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 12 เดือนถัดไปนับจากวันที่ให้สัตยาบัน คือวันที่ 23 มีนาคม 2560
 
อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 เป็นหนึ่งในตราสารที่สำคัญของ ILO ด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน มีผลผูกพันให้ประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีต้องกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระดับชาติ รวมทั้งออกแบบ พัฒนา และนำระบบเพี่อส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยไปบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประเด็นด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยยังเป็นส่วนหนึ่งของหลักการงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการภายใต้ธรรมนูญองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ประสงค์ให้ความคุ้มครองแรงงานและป้องกันเจ็บป่วย การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากการทำงาน ทั้งนี้ หลักการงานที่มีคุณค่ายังสะท้อนอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 8 เรื่อง การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง การมีงานทำอย่างมีผลิตภาพและเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าแก่ทุกคน อีกด้วย ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา ILO ฉบับนี้แล้ว 39 ประเทศ รวมทั้งไทย 
 
ไทยให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2550 รัฐบาลได้ประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและสุขอนามัยดี” และได้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559)  และประกาศใช้ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายหลักในการกำกับดูแลด้านดังกล่าวของประเทศ ขณะนี้ กระทรวงแรงงานกำลังจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการทำงานอย่างปลอดภัยและถูกสุขลักษณะอย่างต่อเนื่อง
* * * * * * *
กองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ
28 มีนาคม 2559

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ