คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการทำงานในรัฐกาตาร์

คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการทำงานในรัฐกาตาร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 ส.ค. 2565

| 8,699 view

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำงานในรัฐกาตาร์

 

ถาม : ก่อนเดินทางมาทำงานที่กาตาร์ให้ถูกต้อง ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ตอบ : - ต้องตรวจสอบร่างสัญญาจ้าง เงื่อนไขในการทำงานให้แน่ใจว่ายอมรับเงื่อนไขนั้น ๆ ได้

          - ได้รับวีซ่าทำงานที่ถูกต้อง

          - นายจ้างต้องทำสัญญาจ้างงานผ่านระบบกระทรวงแรงงานกาตาร์ โดยทั้งสองฝ่ายต้องลงนามในสัญญาจ้างให้ถูกต้อง

          - นายจ้างต้องนำสัญญาจ้างไปรับรองที่กระทรวงแรงงานกาตาร์หรือหอการค้ากาตาร์และกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ แล้วจึงนำมาให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รับรองต่อไป (รายละเอียดดูได้ที่ https://bit.ly/3T9Iitw)

          - นำสัญญาจ้างที่ผ่านการรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปแจ้งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ณ สำนักงานจัดหางานภูมิลำเนา หรือ สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน

 

ถาม :  ทำไมต้องแจ้งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

ตอบ :   - ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ กำหนดให้ทุกคนที่เดินทางไปทำงาน หรือกลับมาพักร้อนก่อนเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องไปแจ้งการเดินทางต่อกรมการจัดหางาน ณ สำนักงานจัดหางานภูมิลำเนา หรือ สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ  กรมการจัดหางาน

 

ถาม :   เมื่อแจ้งการเดินทางแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร

ตอบ :   เมื่อแจ้งการเดินทางแล้วท่านจะได้แบบแจ้งการเดินทาง (จง.12) เพื่อเดินทางผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ได้อย่างง่ายดายและสบายใจ เนื่องจากขณะนี้ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีความเข้มงวดในการตรวจสอบคนหางานที่จะมาทำงานในต่างประเทศ

 

ถาม :   เอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งการเดินทางมีอะไรบ้างและทำเมื่อไหร่

ตอบ   - เอกสารที่ต้องใช้

  • สัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
  • วีซ่าทำงาน
  • หนังสือเดินทาง
  • ตั๋วเครื่องบิน

โดยเอาตัวจริงไปแสดงและให้ถ่ายเอกสารไปด้วยอย่างละ 1 ชุด

             - ติดต่อแจ้งการเดินทางอย่างน้อย 3 วันทำการ เพื่อให้ได้รับความสะดวก

 

ถาม :   ทำไมต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานในการไปทำงานต่างประเทศ

ตอบ :   กระทรวงแรงงานไทยขอความร่วมมือให้ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานในการไปทำงานต่างประเทศด้วยเพื่อที่จะช่วยเหลือท่านได้หากท่านประสบปัญหา ตกทุกข์

 

ถาม :   เอกสารที่ต้องใช้ในการการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนมีอะไรบ้าง

ตอบ :   - เอกสารที่ต้องใช้

  • สัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา โดยนำเอกสารตัวจริงไปแสดงด้วย
  • วีซ่าทำงาน
  • หนังสือเดินทาง
  • รูปถ่ายขนาด 2.5*3.5 ซม. ที่ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน 1 รูป
  • เงินค่าสมัคร 400 บาท

โดยเอาตัวจริงไปแสดงและให้ถ่ายเอกสารไปด้วยอย่างละ 1 ชุด

 

ถาม :   หากสัญญาจ้างไม่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และไม่แจ้งการเดินทางต่อกรมการจัดหางานจะเสียสิทธิอย่างไรบ้าง

ตอบ :   - คนงานอาจจะได้รับอัตราค่าจ้างไม่เป็นไปตามกรมจัดหางานกำหนด

            - หากมีข้อพิพาทกับนายจ้าง คนงานเสียเปรียบในการฟ้องร้องเอาผิดกับนายจ้าง

            - หากคนงานถูกเลิกจ้างก่อนครบระยะเวลาจ้างงานหรือตรวจโรคไม่ผ่านจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองฯ

 

ถาม :   วีซ่าทำงานที่กาตาร์ 3 เดือนมีจริงหรือไม่

ตอบ :   - วีซ่าทำงานไม่มีประเภท 3 เดือน

             - ระยะเวลา 3 เดือนที่ปรากฏในตราประทับของ ตม. กาตาร์ในหนังสือเดินทาง เพื่อให้นายจ้างดำเนินการจัดทำบัตรถิ่นพำนักที่ถูกต้อง ถึงแม้จะเป็นช่วงทดลองงานก็จำเป็นต้องดำเนินการทำบัตรถิ่นพำนัก

             - กรณียังไม่มีบัตรถิ่นพำนักภายใน 3 เดือน มีแนวโน้มที่นายจ้างมีความประสงค์หลีกเลี่ยงการจ้างงานให้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อนายจ้างเอาเปรียบในการจ้างงาน คนงานเอาผิดกับนายจ้างทางกฎหมายได้ค่อนข้างยาก

             - กรณีเข้ากาตาร์ด้วยวีซ่าทำงานแล้วไม่มีบัตรถิ่นพำนัก การเดินทางออกจากกาตาร์นายจ้างจะต้องดำเนินการออก Exit Permit ให้จึงจะเดินทางออกได้

 

ถาม : การทำงานที่กาตาร์ ต้องใช้วีซ่าประเภทใด

ตอบ : ต้องเป็นประเภทสำหรับวีซ่าทำงาน โดยสามารถตรวจสอบในใบวีซ่ามีระบุว่า (Type of Visa: Work-Yearly-Resident) และวีซ่ามีอายุใช้เดินทางเข้าแค่ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อเข้ามากาตาร์แล้ว วีซ่านั้นจะหมดอายุโดยอัตโนมัติ โดยนายจ้างต้องพาไปตรวจโรค พิมพ์ลายนิ้วมือเก็บประวัติ และทำบัตรถิ่นพำนัก (QID) โดยกฎหมายกำหนดระยะเวลาดำเนินการต้องเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หากไม่ดำเนินการใด ๆ หรือดำเนินการไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุอนุโลมจะมีความผิดตามกฎหมาย

 

ถาม : เมื่อเดินทางถึงกาตาร์เพื่อทำงานนายจ้างต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ :  - ต้องตรวจโรคเพื่อทำบัตรถิ่นพำนัก (QID)

            - พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อเก็บประวัติ

            - ทำบัตรถิ่นพำนักกาตาร์ (QID)

 

ถาม : โรคต้องห้ามสำหรับการทำงานหรือพำนักในกาตาร์มีอะไรบ้าง และถ้าตรวจพบจะเป็นอย่างไร

ตอบ : - โรคต้องห้ามแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. โรคติดต่อ ได้แก่ โรคเอดส์ (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C โรคมาเลเรีย โรคเรื้อน วัณโรค, ฝีในปอด กามโรค เช่น ซิฟิลิส และ 2. โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคเครียด โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคมะเร็ง โรคจิต, วิกลจริต พิการอื่นๆ เช่น ตาบอดสี (สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถ) หูหนวก เป็นต้น การตั้งครรภ์ (จะต้องมีการตรวจร่างกายคนงานหญิงทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน)

           - หากพบว่า ท่านเป็นโรคต้องห้ามทางการจะให้นายจ้างส่งกลับและ หากเป็นโรคติดต่อคุณจะไม่สามารถเดินทางเข้ากาตาร์ได้อีกตลอดชีวิต

 

ถาม : กาตาร์ออกวีซ่าทำงานฟรีแลนซ์หรือไม่

ตอบ :  ไม่มีวีซ่าทำงานฟรีแลนซ์ (Freelance Visa) โดยกฎหมายฉบับที่ 21 ปี 2015 ว่าด้วยการเข้า-ออก และที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว มาตรา 16 “ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้าหรืออาศัยอยู่เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือทำงานในหน่วยงานใดที่กำหนด ต้องไม่ละเมิดวัตถุประสงค์ที่เขาได้รับอนุญาต หรือทิ้งงานกับนายจ้างของตน หรือทำงานในที่ทำงานไม่ได้รับอนุญาต” เว้นแต่ทำงานที่อื่นโดยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง และมาตรา 38 กำหนดโทษแก่ผู้ใดกระทำผิด โดยถูกจำคุกระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 กาตาร์ริยาล หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถาม : เวลาทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน และกี่วันต่อสัปดาห์

ตอบ : - ตามกฎหมายแรงงาน เลขที่ 14 ปี 2004 มาตรา 73 ระบุว่า “ชั่วโมงการทำงานปกติสูงสุดคือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในอัตรา 8 ชั่วโมงต่อวันในทุกเดือนของปี ยกเว้นเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของมุสลิม) จะเป็น 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในอัตรา 6 ชั่วโมงต่อวัน”

          - ตามกฎหมายแรงงาน เลขที่ 14 ปี 2004 มาตรา 74 ระบุว่า อนุญาตให้จ้างคนงานทำงานเพิ่มเติมโดยมีเงื่อนไขว่าชั่วโมงการทำงานจริงทั้งหมดต่อวันไม่เกิน 10 ชั่วโมงเว้นแต่งานนั้นมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการสูญเสียร้ายแรงหรืออุบัติเหตุร้ายแรง หรือซ่อมแซมหรือบรรเทาผลกระทบของสิ่งที่เกิดขึ้นการสูญเสียหรืออุบัติเหตุนั้น

 

ถาม : หากทำงานเกินเวลาที่กำหนด คนงานจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง

ตอบ : - นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้คนงานสำหรับชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นพื้นฐานที่ต้องจ่ายสำหรับชั่วโมงการทำงานปกติรวมทั้งการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า (25%) ของค่าจ้าง

          - คนงานที่ทำงานระหว่างเวลา 21.01 น. ถึง 03.00 น. จะได้รับค่าจ้างพื้นฐานที่ต้องจ่ายตามชั่วโมงการทำงานปกติบวกกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า (50%) ของค่าจ้างนั้นด้วยยกเว้นคนงานทำงานเป็นกะ

 

ถาม : กฎหมายแรงงานระบุวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างไร และหากต้องทำงานในวันหยุดจะได้รับการชดเชยอย่างไร

ตอบ : - คนงานจะได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์โดยได้รับค่าตอบแทน การหยุดนั้นต้องไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงติดต่อกันและวันศุกร์เป็นวันหยุดปกติประจำสัปดาห์สำหรับคนงานทุกคนยกเว้นคนงานทำงานเป็นกะ

          - หากเงื่อนไขการทำงานกำหนดให้คนงานต้องทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ เขาจะต้องได้รับการชดเชยด้วยวันพักผ่อนอีกวันหนึ่งและจ่ายเงินให้คนงานสำหรับการทำงานในวันพักผ่อนประจำสัปดาห์หรือค่าจ้างขั้นพื้นฐานที่เขาได้รับจากเขาบวกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 150% ของค่าจ้างยกเว้นคนทำงานทำงานเป็นกะคนงานอาจไม่ได้รับการจ้างงานเกินสองวันศุกร์ติดต่อกัน

 

ถาม : คนงานมีสิทธิวันลาพักผ่อนกี่วันต่อปี

ตอบ : - คนงานที่อายุทำงานน้อยกว่า 5 ปี มีสิทธิลาพักผ่อนอย่างน้อยปีละ 3 สัปดาห์ (21 วัน) และอายุทำงาน 5 ปีขึ้นไป มีสิทธิลาพักผ่อน 4 สัปดาห์ (28 วัน)

           - ในช่วงที่ลาพักผ่อนนั้นจะได้รับเงินเดือนตามปกติ หากไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนจะได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่มีสิทธิ

 

ถาม : วันหยุดประจำปีที่ได้รับค่าจ้างปกติ มีวันใดบ้าง

ตอบ :     - 3 วันทำการ เนื่องในโอกาสวันอีดิลฟิตรี (สิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด)

              - 3 วันทำการ เนื่องในโอกาสวันอีดัลอัฏฮา (เฉลิมฉลองเทศกาลฮัจย์)

              - 1 วันทำการ เนื่องในโอกาสวันชาติกาตาร์ (18 ธันวาคม)

              - 1 วันทำการ เนื่องในโอกาสวันกีฬาแห่งชาติกาตาร์ (วันอังคารของสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์)

              - 3 วันทำการ นายจ้างเป็นผู้กำหนด

ทั้งนี กรณีไม่ได้หยุดตรงวันข้างต้น นายจ้างจะต้องมีวันหยุดทดแทน

 

ถาม : นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนภายในระยเวลากี่วัน

ตอบ : นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนโดยโอนผ่านธนาคาร ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ครบกำหนดจ่ายเงินเดือน

 

ถาม : ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ : - ยื่นขอย้ายงานผ่านระบบกระทรวงแรงงานกาตาร์ ในวันเวลาราชการ (วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 07.00 - 14.00 น.) โดยเข้าระบบด้วยเลขที่ QID และเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนด้วย QID ผ่านเว็บไซต์ http://e-notice.adlsa.gov.qa/Login.aspx?ReturnUrl=%2f

            - รอการพิจารณาของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะได้รับแจ้งวันที่สิ้นสุดการทำงานกับนายจ้างเดิม และคนงานต้องทำงานกับนายจ้างเดิมจนถึงวันสิ้นสุด

            - เมื่อถึงวันที่สิ้นสุดการทำงานกับนายจ้างเดิม คนงานมีสิทธิไปเริ่มทำงานกับนายจ้างใหม่ และนายจ้างใหม่สามารถทำสัญญาจ้างฉบับใหม่ และดำเนินการเปลี่ยนบัตร QID

 

ถาม : เมื่อสิ้นสุดการทำงานคนงานมีสิทธิ์จะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

ตอบ :   - จะได้รับเงินบำเหน็จสิ้นสุดการทำงาน (End of Service Gratuity) อย่างน้อย 3 สัปดาห์ (21 วัน) ต่อปี

             - หากไม่ได้ใช้สิทธิวันหยุดประจำปี จะได้รับเงินชดเชยวันหยุดประจำปี

 

ถาม : หากนายจ้างไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน สามารถร้องเรียนที่ใด

ตอบ : ก. สามารถติดต่อร้องเรียนโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน

                - แรงงานภาคการก่อสร้าง ตึก Labor Department Office, Industrial Area, St. 13

                - แรงงานภาคบริการและทั่วไป ตึก Ministry of Labour, Al Huda Tower (ตรงข้าม City Center) ชั้น 1 เวลาทำการ 07.30-13.30 น.

           ข. สามารถร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไปนี้

               - ยื่นเรื่องผ่านระบบออนไลน์ ด้วยเลขที่ QID และเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนด้วย QID ที่เว็บไซต์ https://acmsidentity.adlsa.gov.qa/EN/Login?ReturnUrl=https://acms.adlsa.gov.qa/en หรือ

               - พิมพ์ 5 (ห้า) แล้วตามด้วยเลขที่ QID หรือวีซ่า ส่งข้อความไปยังหมายเลข 92727 หรือ

               - สายด่วนกระทรวงแรงงานกาตาร์ 16008 หรือ 40280660 หรือ

               - Email: [email protected] หรือ

               - Application “AMERNI”

 

ถาม : สิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับในการทำงานในกาตาร์ สามารถดูข้อมูลได้ที่ไหน

ตอบ :  ข้อพึงทราบสิทธิประโยชน์ของแรงงานเมื่อจะมาทำงานในกาตาร์ https://doha.thaiembassy.org/th/content/labourbenefit

 

*******************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา

สิงหาคม 2565