การนำยาที่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้ากาตาร์

การนำยาที่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้ากาตาร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 มี.ค. 2566

| 749 view
คำแนะนำ
การนำยาที่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้ากาตาร์
 
ที่ผ่านมา ทางการกาตาร์ได้ตรวจสอบการนำยาเข้ากาตาร์อย่างเข้มงวดและได้กำหนดบทลงโทษต่อผู้ละเมิดที่รุนแรง ดังนั้น ผู้ที่จะเดินทางเข้ากาตาร์ควรตรวจสอบและเตรียมความพร้อมของเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อนนำยาเข้ากาตาร์ โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตัวอย่างยาประเภทนี้ เช่น Lyrica, Tramadol, Alprazolam (Xanax), Diazempam (Valium), Zolam, Clonazepam, Zolpidem, Codeine, Methadone, Pregabalin เป็นต้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยที่จะต้องสอบถามแพทย์ผู้ให้การรักษาถึงส่วนประกอบของยา หากยาที่แพทย์ได้สั่งให้ผู้ป่วยรับประทานมีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ผู้ป่วยจะต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้สำแดงต่อทางการกาตาร์ (กรณีได้รับการสอบถามจากเจ้าหน้าที่) ดังนี้
 
1. ใบรับรองแพทย์หรือใบสั่งยาฉบับภาษาอังกฤษที่ออกให้โดยโรงพยาบาลที่ตนไปรับการรักษาอายุไม่เกิน 6 เดือน โดยต้องระบุรายละเอียด ได้แก่ ประวัติผู้ป่วย ผลการวินิจฉัยอาการป่วย แนวทางและระยะเวลาในการรักษา ชื่อ รูปแบบ ปริมาณของยาที่ใช้ในการรักษา และวิธีการใช้ยา พร้อมลายมือชื่อของแพทย์และตราประทับของโรงพยาบาล หากเอกสารต้นฉบับเป็นภาษาไทย ควรแปลเอกสารเป็นภาษาอังกฤษและนำไปรับรองนิติกรณ์เอกสารที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศไทยก่อนนำเอกสารมาใช้อ้างอิงในกาตาร์
 
2. หนังสือรับรองเขียนโดยผู้ป่วยเป็นภาษาอังกฤษยืนยันว่า ยาที่นำเข้ากาตาร์เป็นยาใช้ส่วนตัว และผู้ป่วยจะรับผิดชอบผลที่ตามมาจากการใช้ยาแต่เพียงผู้เดียว
 
3. สำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาบัตรประจำตัวของกาตาร์ (กรณีมีถิ่นพำนักในกาตาร์)
 
4. กรณีให้บุคคลอื่นถือยาเข้ามากาตาร์ให้ ผู้ป่วยจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมแนบสำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาบัตรประจำตัวของกาตาร์ (กรณีมีถิ่นพำนักในกาตาร์) ทั้งของผู้ป่วยและบุคคลที่ถือยาเข้ามาให้ 
ทั้งนี้ ทางการกาตาร์อนุญาตให้นำยาที่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้ามาเพียงพอสำหรับใช้ในกาตาร์ไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น หากยาดังกล่าวหมด ผู้ป่วยสามารถไปขอรับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลในกาตาร์ว่ายังมีความจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการต่อหรือไม่ หากจำเป็น ผู้ป่วยสามารถใช้ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้โดยโรงพยาบาลในไทยในการขอรับยารักษาโรคแบบเดียวหรือออกฤทธิ์ใกล้เคียงกันจากโรงพยาบาลในกาตาร์ได้
 
ข้อควรคำนึงเป็นกรณีพิเศษ
1. ยาที่สามารถนำเข้าไปยังประเทศอื่นได้ มิได้หมายความว่าสามารถนำเข้ามายังกาตาร์ได้ทั้งหมด และการอ้างว่าไม่ทราบกฎระเบียบของกาตาร์ไม่ช่วยให้ท่านรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้หากตรวจพบว่าท่านได้ละเมิดระเบียบขั้นตอนการนำเข้ายาของกาตาร์จริง ฉะนั้น ก่อนเดินทางเข้ากาตาร์ ท่านควรตรวจสอบว่ายาดังกล่าวสามารถนำเข้ากาตาร์ได้หรือไม่ (รายการยาห้ามนำเข้ากาตาร์ คลิก) รวมทั้งสอบถามแพทย์ว่ายาที่สั่งให้มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือไม่ ยาใดที่เข้าข่ายข้อกำหนดดังกล่าว ควรนำใบสั่งยาจากแพทย์ถือคู่มากับยาด้วยทุกครั้ง
2. การพิจารณาว่า จะอนุญาตให้นำยาเข้าได้หรือไม่เป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของทางการกาตาร์และสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถแทรกแซงการดำเนินงานของทางการกาตาร์ได้
 
หมายเหตุ ตัวอย่างรายการยาห้ามนำเข้ากาตาร์ดังแนบจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2530 และ 2536 และทางการกาตาร์ไม่ได้มีการประกาศรายการยาห้ามนำเข้าเพิ่มเติม ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงรายการยาใด ๆ เพิ่มเติมจากนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของทางการกาตาร์ว่าจะอนุญาตให้นำยาเข้าหรือไม่ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาการนำยามาใช้ในกาตาร์ ผู้ป่วยควรเตรียมเอกสารตามข้อ 1-4 ถือแนบมากับยาไว้เลยโดยไม่ต้องคำนึงว่ายาดังกล่าวจะมีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ปรากฏอยู่ในรายการยาที่แนบมาหรือไม่
 
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
พฤศจิกายน 2565
 
 

เอกสารประกอบ

prohibitedmedicines.pdf