วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 ส.ค. 2565
ข้อมูลสิทธิประโยชน์ของแรงงานในประเทศกาตาร์
๑. สัญญาจ้างงาน
ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในการทำงาน อาทิ สถานที่ทำงาน ตำแหน่งและประเภทงาน อัตราค่าจ้าง ระยะเวลาของสัญญา การรับผิดชอบค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ทั้งนี้ แรงงานพึงมีสำเนาสัญญาจ้างงานเพื่อเป็นหลักฐานในการร้องเรียนกับกระทรวงแรงงานกาตาร์ ในกรณีที่นายจ้างผิดสัญญา
อนึ่ง การทำงานในกาตาร์ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ดำเนินการขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) จากกระทรวงมหาดไทยกาตาร์ให้แก่ลูกจ้างในทุกกรณี และจะต้องดำเนินการขอบัตรถิ่นพำนัก (QID) ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันเดินทางถึงกาตาร์ นอกจากนี้ นายจ้างมีหน้าที่ทำบัตรสุขภาพให้แก่ลูกจ้างซึ่งมีค่าใช้จ่าย ๑๐๐ กาตาร์ริยาลต่อปี
๒. อัตราค่าจ้าง
๒.๑ กาตาร์ได้กำหนดอัตราค่าจ้างพื้นฐาน (basic salary) ขั้นต่ำซึ่งรวมถึงการจัดที่พักและอาหารให้แก่คนงานสำหรับแรงงานทั่วไปและคนงานประจำบ้าน (domestic worker) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๖๔ โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือน คือ ๑,๐๐๐ กาตาร์ริยาล ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดที่พักให้คนงาน นายจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าที่พักขั้นต่ำ ๕๐๐ กาตาร์ริยาลต่อเดือน และในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดอาหารให้ จะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าอาหารขั้นต่ำ ๓๐๐ กาตาร์ริยาลต่อเดือน (ตามกฎกระทรวงพัฒนาการบริหาร แรงงาน และกิจการสังคม ฉบับที่ ๒๕ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานและคนงานประจำบ้าน)
๒.๒ ค่าจ้างจะจ่ายตามเงินสกุลของกาตาร์ (กาตาร์ริยาล) และจ่ายเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้าง
๒.๓ การจ่ายค่าจ้างสำหรับลูกจ้างรายปีหรือรายเดือน นายจ้างควรจ่ายเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือน ส่วนลูกจ้างที่ไม่อยู่ในกรณีข้างต้น ควรจ่ายทุก ๆ สองสัปดาห์
๒.๔ นายจ้างควรจ่ายค่าจ้างก่อนลูกจ้างลาพักผ่อนประจำปี
๓. ชั่วโมงการทำงานและการลา (ตามมาตรา ๗๓-๘๕ พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๓.๑ ชั่วโมงการทำงานสูงสุดไม่ควรเกิน ๔๘ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ ๘ ชั่วโมง ยกเว้นในช่วง
เดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) ซึ่งชั่วโมงการทำงานสูงสุดไม่ควรเกิน ๓๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ
๖ ชั่วโมง โดยชั่วโมงการทำงานไม่รวมระยะเวลาเดินทางจากที่พักไปยังที่ทำงาน อย่างไรก็ดี ชั่วโมงการทำงานให้นับรวมเวลาในการละหมาด เวลาพักกลางวันอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงแต่ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง และไม่ควรทำงานเกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกัน
๓.๒ นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้แต่ไม่ควรเกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราเพิ่มจากค่าจ้างพื้นฐานร้อยละ ๒๕ และในกรณีทำงานล่วงเวลาระหว่าง ๒๑.๐๐ - ๐๓.๐๐ น. อัตราค่าล่วงเวลาเพิ่มจากค่าจ้างพื้นฐานร้อยละ ๕๐ ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานเป็นกะ
๓.๓ ลูกจ้างควรได้รับวันพักผ่อนประจำสัปดาห์ซึ่งไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง และวันศุกร์ควรเป็นวันหยุดแก่ลูกจ้างทุกคน ยกเว้นลูกจ้างที่ทำงานเป็นกะ หากมีเหตุจำเป็นที่ลูกจ้างต้องทำงานในวันพักผ่อน ลูกจ้างควรได้รับวันพักผ่อนชดเชย และควรได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าวในอัตราเพิ่มจากค่าจ้างพื้นฐานร้อยละ ๑๕๐
๓.๔ นายจ้างควรปิดประกาศชั่วโมงการทำงาน และวันหยุดต่าง ๆ บริเวณทางเข้าที่ทำงาน
๓.๕ ลูกจ้างได้รับสิทธิวันหยุดประจำปีโดยได้รับค่าจ้าง ดังนี้
- ๓ วันทำการ เนื่องในโอกาสวันอีดิลฟิตรี (สิ้นสุดเทศกาลถือศีลอด)
- ๓ วันทำการ เนื่องในโอกาสวันอีดัลอัฏฮา (เฉลิมฉลองเทศกาลฮัจย์)
- ๑ วันทำการ เนื่องในโอกาสวันชาติกาตาร์ (๑๘ ธันวาคม)
- ๑ วันทำการ เนื่องในโอกาสวันกีฬาแห่งชาติกาตาร์ (วันอังคารสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์)
- ๓ วันทำการ นายจ้างเป็นผู้กำหนด
ทั้งนี้ หากนายจ้างจำเป็นต้องให้ทำงานในวันหยุดดังกล่าว ลูกจ้างควรได้รับวันหยุดชดเชย และควรได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าวในอัตราเพิ่มจากค่าจ้างพื้นฐานร้อยละ ๑๕๐
๓.๖ ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ ๑ ปี ควรมีสิทธิได้รับวันลาพักผ่อนประจำปีโดยได้รับค่าจ้าง สำหรับลูกจ้างที่ทำงานน้อยกว่า ๕ ปี ควรมีวันลาพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า ๓ สัปดาห์ และไม่น้อยกว่า ๔ สัปดาห์สำหรับลูกจ้างที่ทำงานมากกว่า ๕ ปี ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิวันลาพักผ่อนประจำปีตามสัดส่วนระยะเวลาในการทำงาน
๓.๗ ลูกจ้างไม่สามารถสละสิทธิวันลาพักผ่อนประจำปีได้ และข้อตกลงใด ๆ ที่ขัดจะถือเป็นโมฆะ
หากสัญญาจ้างถูกยกเลิกก่อนวันลาพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง ลูกจ้างควรได้รับเงินชดเชยตามจำนวนสิทธิ
วันลาพักผ่อนประจำปี
๓.๘ ลูกจ้างสามารถลาป่วยได้โดยได้รับค่าจ้างเมื่อทำงานครบ ๓ เดือน โดยลูกจ้างต้องแสดงหลักฐานการลาป่วยให้แก่นายจ้าง โดยลูกจ้างได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนหากลาป่วยไม่เกิน ๒ สัปดาห์ และหากเกิน ๒ สัปดาห์จะได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียวสำหรับช่วงขยายการลาป่วยอีก ๔ สัปดาห์ หลังจากนั้นเป็นการลาป่วยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ นายจ้างมีสิทธิยกเลิกสัญญาจ้างหากลูกจ้างลาป่วยแล้ว ๑๒ สัปดาห์หากแพทย์ยืนยันว่าลูกจ้างไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติในช่วงเวลานั้น
๓.๙ ในระหว่างการลาพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างต้องไม่ไปทำงานให้กับนายจ้างรายอื่น
๓.๑๐ นายจ้างต้องไม่ยกเลิกสัญญาจ้างหรือแจ้งลูกจ้างว่าจะยกเลิกสัญญาจ้างในช่วงระหว่างลูกจ้างลาพักผ่อนประจำปีหรือวันหยุดอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
๔. การพำนักและเดินทางออกจากประเทศกาตาร์
๔.๑ นายจ้างจะต้องขออนุญาตการมีถิ่นพำนักของลูกจ้างและบัตรประจำตัว (Residency Permit) ภายใน ๙๐ วัน นับแต่เดินทางถึงประเทศกาตาร์ ทั้งนี้ หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว แรงงานยังไม่มี
บัตรประจำตัวอาจเข้าข่ายพำนักในประเทศกาตาร์เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต
๔.๒ คนต่างด้าวจะต้องเดินทางออกจากกาตาร์ ในกรณีที่บัตรประจำตัวหมดอายุ หรือถูกเพิกถอนสิทธิการมีถิ่นที่อยู่ในกาตาร์ ภายใน ๙๐ วัน (ตามมาตรา ๒๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕)
๔.๓ เมื่อนายจ้างดำเนินการขอหรือต่ออายุบัตรประจำตัวแล้ว จะต้องคืนหนังสือเดินทางให้แก่ลูกจ้าง ยกเว้นกรณีลูกจ้างมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรขอให้นายจ้างเป็นผู้เก็บหนังสือเดินทางไว้ (ตามมาตรา ๘ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕)
๔.๔ ลูกจ้างสามารถเดินทางออกจากประเทศทั้งเป็นการชั่วคราวและถาวรได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง (exit permit) อย่างไรก็ดี ในกรณีที่นายจ้างมีลูกจ้างที่เห็นควรให้ต้องมีการอนุมัติ
การออกนอกประเทศก่อน นายจ้างสามารถยื่นรายชื่อลูกจ้างดังกล่าวไปยังกระทรวงแรงงานได้ โดยจำนวนของลูกจ้างในกลุ่มนี้จะต้องไม่เกินร้อยละ ๕ ของลูกจ้างทั้งหมด (ตามมาตรา ๑ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๑๓ ปี ค.ศ. ๒๐๑๘)
๔.๕ ลูกจ้างที่ถูกไล่ออกจากงาน และไม่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลแรงงานถึงสาเหตุที่ถูกไล่ออก
จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศกาตาร์เป็นเวลา ๔ ปี นับตั้งแต่วันที่เดินทางออกจากประเทศ (ตามมาตรา ๒๖ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕)
๔.๖ ภายหลังการสิ้นสุดการจ้างงาน นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกจากประเทศของลูกจ้าง โดยต้องส่งลูกจ้างกลับประเทศหรือปลายทางที่ตกลงกันภายใน ๒ สัปดาห์นับจากวันสิ้นสุดการจ้างงาน (ตามมาตรา ๕๗ พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๕. การย้ายงาน
๕.๑ การเปลี่ยนนายจ้างโดยไม่ต้องขอรับใบรับรอง No Objection Certificate (NOC) จากนายจ้างเดิม โดยคนงานสามารถดำเนินการแจ้งนายจ้างและจัดทำสัญญาจ้างกับนายจ้างใหม่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวง ADLSA (https://bit.ly/ADLSA-ENS) โดยดำเนินการในวันเวลาราชการ (วันอาทิตย์ - วันพฤหัสบดี ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐ - ๑๔.๐๐ น.) ในกรณีที่คนงานทำงานระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี ต้องดำเนินการล่วงหน้า ๑ เดือน และในกรณีที่คนงานทำงานระยะเวลาเกิน ๒ ปี ต้องดำเนินการล่วงหน้า ๒ เดือนก่อนย้ายงานใหม่ (ตามกฎหมายฉบับที่ ๑๙ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ที่ออกเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕)
๕.๒ คนงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างใหม่ในช่วงการทดลองงานได้ ซึ่งคนงานจะต้องแจ้งนายจ้างเดิมล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย ๑ เดือน โดยนายจ้างใหม่ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเดินทางและค่าดำเนินการนำคนงานเข้ากาตาร์ให้แก่นายจ้างเดิม ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวนั้นจะไม่เกินค่าจ้างพื้นฐาน (basic salary) ของคนงานจำนวน ๒ เดือน (ตามกฎหมายฉบับที่ ๑๘ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ แก้ไขบางมาตราของพระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๖. การยกเลิกสัญญาจ้าง
๖.๑ ทั้งสองฝ่ายสามารถยกเลิกสัญญาจ้างงานได้หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาทดลองงานหรือไม่ได้กำหนดระยะเวลาทดลองงาน โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งสาเหตุ ฝ่ายที่ประสงค์ยกเลิกสัญญาจ้างต้องแจ้งอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร หากทำงานไม่เกิน ๒ ปี ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ เดือน แต่หากทำงาน ๒ ปีขึ้นไป ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ เดือน หากฝ่ายที่ยกเลิกไม่ได้แจ้งต่ออีกฝ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด จำเป็นต้องชดเชยเป็นเงินเท่ากับจำนวนวันที่ต้องแจ้งหรือจำนวนวันที่ต้องแจ้งคงเหลือ (ตามกฎหมายฉบับที่ ๑๘ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ แก้ไขบางมาตราของพระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๖.๒ นายจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างงานภายในระยะเวลาทดลองงานหากพบว่า คนงานไม่เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยนายจ้างจะแจ้งให้คนงานทราบอย่างน้อย ๑ เดือนก่อนวันสิ้นสุดระยะเวลาทดลองงาน และหากคนงานต้องการยกเลิกสัญญาและเดินทางออกนอกประเทศ จะต้องแจ้งนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความตั้งใจที่จะเลิกสัญญาจ้างตามระยะเวลาการแจ้งที่ตกลงกันระหว่างทั้ง ๒ ฝ่าย สูงสุดไม่เกินสองเดือน โดยหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาการแจ้งที่ระบุไว้ข้างต้นจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเทียบเท่ากับค่าจ้างพื้นฐานของคนงานสำหรับระยะเวลาแจ้ง หรือส่วนที่เหลือของระยะเวลาการแจ้ง
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ยกเลิกสัญญาจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับอีกฝ่าย และหากคนงานเดินทางออกนอกประเทศโดยมิได้แจ้งยกเลิกสัญญาล่วงหน้าจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในกาตาร์เป็นเวลา ๑ ปีนับแต่วันที่เดินทางออกจากกาตาร์ (ตามกฎหมายฉบับที่ ๑๘ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ แก้ไขบางมาตราของพระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๖.๓ นายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างออกโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ในกรณีต่าง ๆ อาทิ ๑) ปลอมแปลงเอกสารประจำตัว ๒) สร้างความเสียหายทางการเงินจำนวนมากให้แก่นายจ้าง
๓) ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่หลักตามที่ตกลงในสัญญาจ้างได้โดยไม่แจ้งนายจ้างให้ทราบล่วงหน้า
๔) เปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้า ๕) เมาสุราหรือยาระหว่างปฏิบัติงาน ๖) ทำร้ายร่างกายนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน ๗) ละทิ้งงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรมากกว่า ๗ วันติดต่อกันหรือ ๑๕ วันในหนึ่งปี (ตามมาตรา ๖๑ พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๗. เงินบำเหน็จและเงินชดเชยวันหยุดประจำปีเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง
๗.๑ ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องกับนายจ้างรายเดียวตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จและ
เงินชดเชยวันหยุดประจำปี (หากไม่ใช้วันหยุด) จากนายจ้างเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง (ตามมาตรา ๕๔ และ ๘๑พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๗.๒ เงินบำเหน็จนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อย่างไรก็ดี ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างสามสัปดาห์ต่อหนึ่งปีของการจ้างงาน ระยะเวลาการทำงานที่เป็นเศษส่วนของปีจะต้องนำมาคำนวณด้วย
การคำนวณเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินเดือน/ค่าจ้างพื้นฐาน ทั้งนี้ นายจ้างสามารถหักเงินบำเหน็จในกรณีที่ลูกจ้างติดหนี้นายจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างกลับมาทำงานกับนายจ้างเดิมภายในสองเดือน ระยะเวลาการทำงานสำหรับคำนวณจะนับต่อเนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาจ้างก่อนหน้านี้ (ตามมาตรา ๕๔ พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
๗.๓ ฐานการคำนวณระยะเวลาเป็นไปตามปฏิทินคริสต์ศักราช โดย ๑ ปีปฏิทินหมายถึง ๓๖๕ วัน และ ๑ เดือนปฏิทินหมายถึง ๓๐ วัน (ตามมาตรา ๘ พระราชบัญญัติแรงงาน ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔)
ตัวอย่างการคำนวณปรากฏตามภาพด้านล่างนี้
๘. การร้องเรียนกรณีมีข้อพิพาทกับนายจ้าง
ในกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิ (๑) ได้รับเงินเดือนไม่ตรงกับสัญญาจ้าง
(๒) ไม่ได้รับค่าจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) (๓) ไม่ได้ค่าจ้าง/ชดเชยวันหยุดประจำสัปดาห์ (๔) นายจ้างไม่จ่ายเงินบำเหน็จเมื่อสิ้นสุดการทำงาน
ช่องทางการร้องเรียนซึ่งลูกจ้างสามารถติดต่อร้องเรียนโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน
๑. พิมพ์ 5 (ห้า) แล้วตามด้วยเลขที่บัตรถิ่นพำนัก (QID) หรือวีซ่า (กรณียังไม่ทำบัตร QID) ส่งข้อความไปยังหมายเลข 92727
๒. สายด่วนกระทรวงแรงงานกาตาร์ ๑๖๐๐๘ หรือ ๔๐๒๘๐๖๖๐
๓. ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์: [email protected]
๔. Application “AMERNI”
เอกสารจำเป็นสำหรับการร้องเรียน ประกอบด้วย
๑. บัตรถิ่นพำนักกาตาร์ (QID)
๒. สัญญาจ้างงานที่ออกโดยกระทรวง ADLSA กาตาร์
๓. สัญญาหรือข้อตกลงเพิ่มเติม (หากมี)
๔. เบอร์โทรศัพท์ของตนเองและนายจ้าง
๕. เอกสารอื่น ๆ เช่น ใบรับเงินเดือน ตารางลงเวลาทำงาน ข้อความคำสั่งจากนายจ้าง
๙. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๑. พระราชบัญญัติแรงงานกาตาร์ ฉบับที่ ๑๔ ปี ค.ศ. ๒๐๐๔ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๔
๒. พระราชบัญญัติแรงงานกาตาร์ ฉบับที่ ๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๕
๓. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑
ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๖
๔. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๑๓
ปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๒๐๑๘ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๑๘
๕. กฎกระทรวงพัฒนาการบริหาร แรงงาน และกิจการสังคม ฉบับที่ ๒๕ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานและคนงานประจำบ้าน ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๐ และมีผลบังคับใช้๖ เดือนนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประมาณเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๑) ออกตามกฎหมายฉบับที่ ๑๗ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนงานและคนงานประจำบ้าน
๖. กฎหมายฉบับที่ ๑๙ ปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๒๐ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๐ แก้ไขบางมาตราของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าออก และพำนักในกาตาร์ของคนต่างด้าว ฉบับที่ ๒๑ ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าและออกของชาวต่างชาติ
*************************
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
๒๗ มกราคม ๒๕๖๔
อาทิตย์ - พฤหัสบดี เวลา 7.30 - 15.30 น.