สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับ Earthna Center for a Sustainable Future จัดสัมมนา ในหัวข้อ “From Local to Global: Thailand’s Sustainability and Eco-Tourism Journeys” แสดงบทบาทนำของประเทศไทยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับ Earthna Center for a Sustainable Future จัดสัมมนา ในหัวข้อ “From Local to Global: Thailand’s Sustainability and Eco-Tourism Journeys” แสดงบทบาทนำของประเทศไทยด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 เม.ย. 2568

| 207 view

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกาตาร์ สถาบัน Earthna Center for a Sustainable Future และศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยกาตาร์ จัดสัมมนาในหัวข้อ “From Local to Global: Thailand’s Sustainability and Eco-Tourism Journeys” ณ โรงแรม Park Hyatt Doha ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานอย่างเป็นทางการของงาน Earthna Summit 2025 การประชุมนานาชาติด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของกาตาร์ ระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2568​ ภายใต้หัวข้อ “Building Our Legacy: Sustainability, Innovation, and Traditional Knowledge”

ในพิธีเปิดงานสัมมนาดังกล่าว นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา กล่าวย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งสองประเทศ​ โดยประเทศไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมความพยายามของกาตาร์ในด้านดังกล่าว Dr. Radhouane Ben-Hamadou ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและนโยบายของสถาบัน Earthna กล่าวในฐานะผู้แทนผู้จัดงานร่วมฯ ย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับกับมิตรประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน​ และนางชัชสรัญย์ เลิศเกียรติวงศ์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กล่าวถึงแนวทางของประเทศไทยในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการและการพัฒนา ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับความต้องการของมิตรประเทศ​

งานสัมมนามุ่งเน้นการนำเสนอประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในมิติที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของกาตาร์ (Halal ecosystem) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและกาตาร์ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Qatar National Vision 2030 และยุทธศาสตร์ 3rd National Development Strategy 2024 - 2030 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมกาตาร์ด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้

งานสัมมนาประกอบด้วยการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญไทยใน 3 หัวข้อ ดังนี้

  1. Empowering Local Communities - An Enterprise for a Better World โดยนางสาววิสิษฐ์อร รัชตะนาวิน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับภารกิจของมูลนิธิฯ และโครงการดอยตุง ที่มุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในพื้นที่ภาคเหนือของไทย เช่น การปลูกฝิ่น การค้ามนุษย์ และการด้อยโอกาสทางการศึกษา ด้วยแนวทางการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อาทิ การส่งเสริมการประกอบอาชีพ การส่งเสริมการศึกษา และการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนและพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลกสมัยใหม่
  2. Promoting Responsible Eco-Tourism and Environmental Education โดยนายอเล็กซานเดอร์ ไซมอน เรนเดลล์ CEO & Co-Founder Environmental Education Center (EEC) Thailand นำเสนอประสบการณ์ของการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับเยาวชน โดยเน้นย้ำว่า ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงต้องเริ่มจากการตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสที่เยาวชนและสาธารณชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนและสาธารณชน
  3. Panel Discussion on Advancing Environmental Conservation ซึ่งเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักวิชาการของไทยและกาตาร์ด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน การส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทยและกาตาร์ โดยการเสวนาดังกล่าว ผศ.ดร. ภาสิณี วรชนะนันท์ รองคณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการเยือนกาตาร์ของคณะผู้เชี่ยวชาญไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้แก่ (1) การศึกษาความท้าทายและโอกาสด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน (2) การพัฒนาแหล่งเพาะชำและแหล่งอนุบาลต้นแสม และ (3) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการสร้างความตระหนักรู้ในกาตาร์ Dr. Aspa Chatziefthimiou หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ โครงการฟื้นฟูป่าชายเลน สถาบัน Earthna ได้แบ่งปันประสบการณ์ในโครงการอนุรักษ์ และความท้าทายต่อการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรป่าชายเลนของกาตาร์ และ Prof. Dr. Jassim Al-Khayat หัวหน้าโครงการวิจัยประจำศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยกาตาร์ นำเสนอโครงการวิจัยต้นแสมและป่าชายเลนของรัฐบาลกาตาร์และมหาวิทยาลัยกาตาร์ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี และข้อเสนอแนะด้านนโยบายการศึกษาแก่สาธารณชน

ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน ซึ่งมาจากหลายภาคส่วนในกาตาร์ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการและการอุดมศึกษา กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงการเทศกิจ สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมกาตาร์ สถาบัน Earthna มหาวิทยาลัย Hamad Bin Khalifa มหาวิทยาลัยกาตาร์ Qatar Foundation Qatar Museums บริษัท Exxon Mobil คณะทูตต่างประเทศในกาตาร์ และสื่อท้องถิ่นหลายสำนัก

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากไทยจัดแสดงนิทรรศการ ณ นิทรรศการ Earthna Village 2025 ระหว่างวันที่ 22 - 23 เมษายน 2568 นำเสนอความสำเร็จของการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับกับนวัตกรรมสมัยใหม่ และการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนโดยเป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ยั่งยืนและผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากโครงการดอยตุง และผลิตภัณฑ์ชุมชนจากป่าชายเลนในประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ บ้านไหนหนัง จ. กระบี่ บ้านเขายี่สาร จ. สมุทรสงคราม บ้านกุ่ม จ. เพชรบุรี และบ้านโคกขาม จ. สมุทสาคร ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 เอกอัครราชทูตฯ ภริยา คณะผู้เชี่ยวชาญไทย และ ขรก. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมรับเสด็จและบรรยายสรุปแก่ Sheikha Hind Bint Hamad Al-Thani ในฐานะ Vice Chairperson/CEO ของ Qatar Foundation ซึ่งเสด็จฯ เปิดงานนิทรรศการฯ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 เอกอัครราชทูตฯ ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญจากไทยเข้าพบหารือกับหน่วยงานกาตาร์ ได้แก่ กรมการอนุรักษ์สัตว์ป่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถาบัน Earthna โดยมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง การส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ และโครงการวิจัยและการพัฒนาระหว่างไทยกับกาตาร์ต่อไป

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา มุ่งมั่นในการส่งเสริมการทูตสีเขียว (Green Diplomacy) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างไทยกับกาตาร์ ตามวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศของกาตาร์ Qatar National Vision 2030 และ 3rd National Development Strategy 2024 – 2030 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG Goals) และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากไทย และการเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมแห่งอนาคต ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและกาตาร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในมิติอื่น ๆ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ