ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเข้า-ออกรัฐกาตาร์ของคนต่างชาติและการมีถิ่นพำนัก ฉบับใหม่ (ค.ศ. 2015)

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเข้า-ออกรัฐกาตาร์ของคนต่างชาติและการมีถิ่นพำนัก ฉบับใหม่ (ค.ศ. 2015)

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 พ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,197 view
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเข้า-ออกรัฐกาตาร์ของคนต่างชาติและการมีถิ่นพำนัก ฉบับใหม่ (ค.ศ. 2015)
 
             ตามที่ได้มีการออก พ.ร.บ. ฉบับที่ 21 ค.ศ. 2015 กำหนดกฎเกณฑ์การเข้า-ออกเมืองของคนต่างชาติ และการมีถิ่นพำนักในกาตาร์ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 นั้น
 
             สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอเรียนประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับที่ 21 ดังกล่าวในส่วนที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. ฉบับที่ 4 ค.ศ. 2009 ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การเข้า-ออกเมืองของคนต่างชาติ และการมีถิ่นพำนัก และ sponsorship ตลอดจนประเด็นที่ต้องพิจารณาในการทำสัญญาจ้างกับนายจ้างในกาตาร์ตามที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดตามความชัดเจนจากอธิบดีกรมแรงงานสัมพันธ์กาตาร์และนักกฎหมายเพิ่มเติม ดังนี้
 
1. การยกเลิกระบบสปอนเซอร์ (sponsorship) ไม่มีการใช้คำว่าสปอนเซอร์อีกต่อไป นายจ้างของท่านไม่ใช่ผู้อุปถัมภ์หรือผู้ดูแลรับผิดชอบชีวิตของคนงานต่างชาติอีกต่อไป  กฎหมายใหม่เรียกว่าผู้ว่าจ้าง (recruiter)  สิ่งที่ตามมาคือกฎหมายใหม่ยกเลิกความรับผิดชอบของสปอนเซอร์ต่อหนี้สินของคนงานในอุปถัมภ์ (ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าธนาคารในกาตาร์จะกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไรในการให้กู้เงิน อย่างไรก็ดี น่าจะเป็นสิ่งที่ดีหากธนาคารจะปล่อยกู้โดยรอบคอบมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารมีความเสี่ยงน้อยมาก  จึงปล่อยกู้ง่าย ทำให้คนงานต่างชาติหลายคนต้องตกเป็นหนี้จำนวนมาก และเป็นปัญหาเมื่อถูกเลิกจ้างก่อนหมดสัญญา)
 
2. สัญญาจ้างงาน กฎหมายใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องสัญญาจ้าง โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขว่าการจะได้รับวีซ่าจะต้องมีสัญญาจ้าง เจตนารมณ์ของเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่คนงานต่างชาติถูกเอาเปรียบจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นท่านที่ประสงค์จะไปทำงานในกาตาร์จึงควรพิจารณาเงื่อนไขในสัญญาจ้างให้ดี  ตามกฎหมายไทย ผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศต้องแจ้งกรมการจัดหางาน โดยยื่นสัญญาจ้างที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของไทย (สถานเอกอัครราชทูต/สำนักงานแรงงานฯ) เป็นเอกสารประกอบที่สำคัญ ประเด็นนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่จะพิจารณาสัญญาจ้างของทุกท่านให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เหมาะสมดังเช่นที่ปฏิบัติมา และขอให้ทุกท่านใช้สัญญาจ้างให้เป็นประโยชน์ และเมื่อเดินทางถึงกาตาร์แล้วอย่ายินยอมลงนามในสัญญาจ้างฉบับใหม่ที่เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ลดลง เพราะทางการกาตาร์จะยึดถือสัญญาจ้างฉบับล่าสุดที่ท่านลงนามเท่านั้น
 
3. การย้ายงาน กฎหมายใหม่มีเจตนารมณ์ให้คนงานต่างชาติสามารถทำงานในกาตาร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าคนงานสามารถทำสัญญากับนายจ้างใหม่ได้เมื่อหมดสัญญาจ้างหรือทำงานเกิน 5 ปีในกรณีที่สัญญาไม่ระบุระยะเวลา โดยไม่ต้องออกไปนอกประเทศและรอเวลา 2 ปีเช่นกฎหมายเดิม  แต่การย้ายงานต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน  และกรณีนี้นายจ้างใหม่จะต้องมีโควต้าตำแหน่งงาน สัญชาติและเพศเดียวกันด้วย (เช่นกรณีหากเป็นนักบัญชี เมื่อย้ายงาน บริษัทใหม่จะต้องได้รับโควต้าให้จ้างคนต่างชาติที่เป็นสัญชาติ เพศ และตำแหน่งเดียวกันด้วย) ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้ว หรือกรณีที่ท่านทำงานเกิน 5 ปีแล้วประสงค์จะย้ายงาน ขอให้ตรวจสอบว่านายจ้างใหม่ที่ท่านจะย้ายไปได้รับอนุญาตให้จ้างคนไทยที่เป็นเพศและตำแหน่งเดียวกับที่ท่านทำอยู่หรือไม่
 
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่นายจ้างยกเลิกสัญญา เนื่องจากไม่มีงาน  นายจ้างเสียชีวิต หรือบริษัทเลิกกิจการ อธิบดีกรมแรงงานสัมพันธ์แจ้งว่าท่านสามารถสมัครงานกับนายจ้างใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งเดิมดังเช่นกรณีข้างต้น
 
4. การลาออก ยังคงเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ค.ศ. 2004 ซึ่งมี 2 กรณีตามสัญญาจ้างงานคือ
    1) กรณีสัญญาจ้างงานที่ไม่กำหนดระยะเวลาจะเป็นไปตามมาตรา 49 ซึ่งคนงานที่ทำงานไม่ถึง 5 ปีสามารถลาออกโดยแจ้งล่วงหน้า 30 วัน หากทำงานเกิน 5 ปีต้องแจ้งล่วงหน้า 60 วัน
    2) กรณีสัญญาจ้างงานที่กำหนดระยะเวลา  มาตรา 51 ระบุว่า สามารถลาออก โดยได้รับเงินบำเหน็จตามระยะเวลาทำงานใน 4 กรณี ได้แก่ 
         2.1 นายจ้างละเมิดสัญญาจ้าง
         2.2 นายจ้างทำร้ายหรือกระทำการใดๆ ที่เข้าข่ายละเมิดลูกจ้างหรือสมาชิกในครอบครัว
         2.3 นายจ้างล่อลวงให้หลงเชื่อเงื่อนไขต่างๆ ในการทำสัญญาจ้างงาน
         2.4 สภาพการทำงานมีความอันตราย และนายจ้างไม่แก้ไข
 
ที่ผ่านมา การลาออกในกรณีสัญญาจ้างงานที่กำหนดระยะเวลา ไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากลาออกแล้วก็ต้องเดินทางกลับประเทศ  แต่ตามกฎหมายใหม่ หากนายจ้างยินยอมให้ลาออก คนงานสามารถย้ายงาน การลาออกจึงน่าจะยากขึ้น และทางการกาตาร์น่าจะพิจารณาโดยยึดสัญญาจ้างซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายนายจ้างเพราะเป็นการจ้างที่มีการกำหนดระยะเวลา  ทั้งนี้ อธิบดีกรมแรงงานสัมพันธ์แจ้งว่า คนงานตามสัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาไม่สามารถลาออก 
 
สำหรับประเด็นนี้ ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังหารือกับกระทรวงแรงงานของไทยเพื่อพิจารณาว่าสัญญาจ้างงานแบบใดจะเป็นผลดีต่อคนงานไทย
 
5. การเดินทางออกนอกกาตาร์ กฎหมายใหม่ยกเลิกการให้สปอนเซอร์เป็นผู้อนุญาตการเดินทางออกนอกกาตาร์ โดยเปลี่ยนเป็นผู้ประสงค์จะเดินทางหรือนายจ้างต้องแจ้งให้ทางการทราบก่อนการเดินทางออกนอกกาตาร์อย่างน้อย 3 วัน หากทางการไม่อนุญาตหรือนายจ้างคัดค้าน ท่านสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานที่กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการกาตาร์ยังให้แจ้งการเดินทางออกนอกกาตาร์ผ่านนายจ้าง โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งว่าจะมีการนำระบบแจ้งการเดินทางออนไลน์ด้วยตนเองผ่านระบบ Metrash 2 มาใช้ในช่วงต้นปี 2560 ทั้งนี้ ขณะนี้การแจ้งการเดินทางออกไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 
 
             ท่านที่ประสงค์จะศึกษา พ.ร.บ. ฉบับที่ 21 ค.ศ. 2015 สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.ilo.org
section - labour standards โดยค้นข้อมูลตามประเทศ หรือที่ link - http://www.ilo.org/dyn/natlex/docs/MONOGRAPH/102231/123499/F-577602842/QAT102231%20Eng.pdf
 
             หากท่านมีข้อสงสัยประการใด โปรดสอบถามสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่เบอร์โทร 55578760 หรือส่งข้อความไปที่ line หรือ facebook ของสถานเอกอัครราชทูตฯ  ทั้งนี้ ประเด็นที่เรียนให้ทุกท่านทราบเป็นข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2559   ขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง สถานเอกอัครราชทูตฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป